xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำเต้าหู้” ออร์แกนิก กิจการเล็กๆ เติมฝันสองสาวพัฒนาสู่วิถียั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 “ศิวรี มีนาภินันท์” และ “ธีรา ลี้อบาย”
พอนึกถึง “น้ำเต้าหู้” ภาพของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพก็ปรากฏขึ้นมาทันที และเมื่อน้ำเต้าหู้ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ น่าที่จะเป็นตั้งแต่ต้นทาง คือวัตถุดิบ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นแรงบันดาลใจให้สองสาวคนรุ่นใหม่อย่าง “ศิวรี มีนาภินันท์” และ “ธีรา ลี้อบาย” ออกตามหาวัตถุดิบที่ปราศจากสารเคมี เพื่อนำมาทำน้ำเต้าหู้ออร์แกนิก แบรนด์ "Yellow Hello"
น้ำงาดำผ่านการพาสเจอไร้ท เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บ
"ศิวรี" และ "ธีรา" เล่าว่า แรงบันดาลใจเริ่มต้นมาจากความต้องการกลับคืนสู่การเรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนร่วมกับธรรมชาติ, การใช้ชีวิตอย่างพึ่งตนเอง ชุมชน และธรรมชาติรอบตัวได้อย่างพอเพียง จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อใช้เวลาศึกษาเรียนรู้องค์ประกอบต่างๆ ควบคู่ไปกับการทำกิจการเล็กๆ เพื่อหารายได้ระหว่างทาง ผ่านไป 1 ปียังไม่พบเห็นความคืบหน้า เนื่องด้วยภูมิลำเนาจากพื้นที่เล็กๆ ภายในกรุงเทพฯ ห่างไกลจากธรรมชาติ จึงน้อมนำแนวพระราชดำรัสที่ว่า ทุกคนมีต้นทุนไม่เหมือนกัน แต่เราสามารถเริ่มต้นนำสิ่งที่ตนเองมีใกล้ๆ ตัวมาเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ เราจึงเริ่มต้นนำเอากิจการเล็กๆ ที่มีอยู่มาพัฒนาสู่วิถีความยั่งยืน นั่นคือ “ธุรกิจน้ำเต้าหู้”
น้ำฟักทอง ได้จากฟักทองในฟาร์มผักออร์แกนิค
เราเริ่มต้นออกแบบธุรกิจให้ยั่งยืน ด้วยการพยายามทำให้ธุรกิจของเราเหลือสิ่งตกค้างสู่สังคม และสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งเราเชื่อว่า มูลเหตุจูงใจทางสังคมจะยั่งยืนไม่ได้จริงหากไม่เริ่มจากตัวเอง เรามีมูลเหตุจากความต้องการของตัวเราเองในการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย เคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วธรรมชาติจะเกื้อกูลเรา” ธีรากล่าว 
"ศิวรี" กล่าวถึงปัญหา อุปสรรคระหว่างทางว่า มีเกิดขึ้นตลอดเวลา และเราก็ค่อยก้าวผ่านมันไปแบบค่อยเป็นค่อยไป แบบลองผิดลองถูกบ้าง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจเราได้พบสังคมแห่ง “เพื่อน” ที่สามารถพูดคุย ให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือให้เราผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ อุปสรรคข้างหน้าเราก็จะก้าวข้าม จุดมุ่งหมายคือการคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางสังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
เช่นเดียวกับถั่วเหลืองนำมาทำน้ำเต้าหู้
ทั้งนี้ที่มาของ "Yellow Hello"  เกิดขึ้นจากการที่ทั้งสองสาวต้องการที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติยุคสมัยด้วยถั่วเหลืองเมล็ดเดียว  เพราะเขาเชื่่อว่าพลังยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้ล้วนเริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ จุดเดียว และจุดเล็กๆ ที่ทั้งสองคนนึกได้ขณะนั้น  ก็คือ คาเฟ่เล็กๆ ขายน้ำเต้าฟู้ของเธอ  โดยเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนมาใช้ถั่วเหลืองอินทรีย์ ทั้งสองคนออกตามหาจนเจอถั่วเหลืองจากชุมชนเกษตรอินทรีย์พึ่งพาตนเอง "บ้านดอนเจียง" และเริ่มสร้างสายสัมพันธ์เครือข่ายผู้บริโภคและผู้ผลิตมาเป็นเวลาประมาณหนึ่งปี

“ธีรา” เล่าว่า อุดมการณ์หลักของเราคือ การทำธุรกิจที่ทิ้งภาระให้กับโลกน้อยที่สุด ส่วนแรกคือ เราใช้วัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ซึ่งปลูกโดยไม่ทิ้งสิ่งปลอมสู่ธรรมชาติ และอีกส่วนหนึ่งที่เรายังทำได้ไม่สมบูรณ์ คือ การทำระบบธุรกิจให้เป็น zero wasted นอกจากน้ำเต้าหู้แล้ว “กากถั่วเหลือง” ที่ได้จากการผลิตเรานำไปแปรรูปเป็นขนม เช่น วาฟเฟิล คุกกี้ มัฟฟิน ฯลฯ แต่ก็ยังคงเหลือ “กากถั่วเหลือง” ต้องทิ้งอยู่อีกมาก จากข้อมูลและประสบการณ์ในระยะที่ผ่านมาทำให้พบว่าหนึ่งในกลุ่มผู้ใช้ถั่วเหลืองมากที่สุด คือ “ปศุสัตว์” และผู้ทำปศุสัตว์อินทรีย์หลายส่วนก็ยังต้องหาใช้ถั่วเหลืองจากวงจรเอง บางที่เป็นถั่วดิบเต็มเมล็ด ราคาแพง ทั้งยังไม่เหมาะสมกับสัตว์ ดังนั้น มองว่ากากถั่วเหลืองที่เรามีอยู่น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดส่วนนี้
แปลงถั่วเหลืองออร์แกนิค
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาทำให้เราพบว่าเกษตรอินทรีย์ที่อยู่รอดอย่างยั่งยืนนั้นควรพัฒนาอย่างเป็นเครือข่าย และเติบโตไปพร้อมๆ กัน การพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกากถั่วเหลืองเป็นอาหารสัตว์จึงเป็นการส่งเสริมธุรกิจถั่วเหลืองในมิติที่กว้างขึ้น สนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการรายอื่นใช้ถั่วเหลืองอินทรีย์เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้จำนวนเกษตรกรผู้ผลิตถั่วเหลืองและทำปศุสัตว์อินทรีย์มีจำนวนที่มากขึ้นในอนาคต และยังเป็นคำตอบของการเติบโตทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยความยั่งยืน” ศิวรีกล่าว 
Food Truck  ช่องทางหนึ่งที่จำหน่ายน้ำเต้าหู้
สำหรับการทำธุรกิจน้ำเต้าหู้ของทั้งสองสาวนั้น เธอตระเวนไปขายตามจุดต่างๆ ด้วยรถฟูดทรัก และบางส่วนก็จะทำการผลิตด้วยระบบพาสเจอไรซ์เพื่อส่งขายให้กับร้านเบเกอรี ตอนนี้รายได้อาจจะยังไม่มากนัก เพราะเวลาบางส่วนทุ่มกับการค้นหาคลุกคลีกับเครือข่ายผู้ผลิตวัตถุดิบ และศึกษาเรื่่องเกษตรอินทรีย์ เพื่อจะได้มีวัตถุดิบออกมาเพียงพอต่อความต้องการที่ใช้ในอนาคต ดังนั้นเวลาที่ใช้กับการขายสินค้าจึงยังไม่มาก แต่เป็นรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ในอนาคตถ้าทุกอย่างลงตัว มีวัตถุดิบอย่างที่ต้องการเราทั้งสองคนคงจะได้ทุ่มเทกับการทำตลาดมากขึ้นเพื่อรองรับการผลิตที่เพิ่มขึ้น  และในโอกาสที่เราได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ BANPU CHAMPIONS FOR CHANGE 6 จึงตั้งใจที่ทำธุรกิจของเราให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่เราวางไว้ด้วย 
ในไร่ที่ทั้ง 2 สาวร่วมลงแรงช่วยเขาดุแล
โทร. 08-4631-3232 www.facebook.com/YELLOWhello

วาฟเฟิล ผลผลิตทีได้จากกากถั่วเหลือง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น