xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” อนุมัติเพิ่มทุน ธพว.พันล้านบาท พร้อมเดินหน้าหนุน SMEs ตามเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชาย หาญหิรัญ  ประธานกรรมการ ธพว.
ประธานกรรมการ ธพว.เผย กระทรวงการคลังอนุมัติ ธพว. 1,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้า NPL สิ้นปีเหลือ 18,000 ล้านบาท ส่วนแผนการปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามเป้า 35,000 ล้านบาท ชี้ ธพว.ยังคงยืนหยัดการเป็นธนาคารรัฐ ไม่ได้มุ่งหวังกำไร  ล่าสุดธนาคารไม่ได้ของบชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มจากรัฐ แต่นำงบรายได้ของธนาคารมาชดเชยแทน   

นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ ธพว. เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้อนุมัติเพิ่มทุนให้ ธพว.อีก 1,000 ล้านบาท (20 กันยายน 2559) โดยผลประกอบการ ณ เดือนสิงหาคม 2559 มียอด NPL ลดลงเหลือ 19,486 ล้านบาท คิดเป็น 21.66% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด คาดว่ายอด NPL สิ้นปีนี้จะเหลือประมาณ 18,000 ล้านบาท ตามแผนที่กำหนด

ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่สู่ระบบเศรษฐกิจได้เบิกจ่ายไปแล้ว 21,953 ล้านบาท โดยยังมีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อค้างระหว่างพิจารณาอีกกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่ ธพว.ออกผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจผู้ประกอบการ 2 โครงการ คือ สินเชื่อ SMEs บัญชีเดียว วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ Soft Loan 3 เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถอนุมัติและเบิกจ่ายได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ 35,000 ล้านบาท

“สำหรับไตรมาส 4 ที่เหลือนี้ ธพว.ให้บริการทางการเงินเพื่อผลักดันการสร้างผู้ประกอบการในกลุ่ม S-Curve ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม การจูงใจให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาจดทะเบียนเปลี่ยนกิจการเป็นนิติบุคคล เพื่อรองรับระบบ E-Payment บัญชีเดียว ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยจะมีทั้งการช่วยเหลือสนับสนุนสินเชื่อและร่วมลงทุนหนุนเสริมจัดทำเป็นโปรแกรมพิเศษ ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นชัดว่าผู้ประกอบการได้เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองแล้ว โดยจากสถิติผู้มายื่นขอสินเชื่อที่ ธพว.กว่า 80% เป็นนิติบุคคล”

ส่วนความร่วมมือในโครงการศูนย์ SMEs Rescue Center นั้นได้ให้ทุกสาขาของ ธพว. เป็นหน่วยงานหลักในการคัดกรองและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีปัญหาเดือดร้อนด้านการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการจนสามารถผลักดันลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ตามกฎหมายฟื้นฟูใหม่เข้าสู่กองทุนพลิกฟื้น SMEs วงเงิน 1,000 ล้านบาท จนสำเร็จกลุ่มแรกจำนวน 4 ราย วงเงินที่ได้รับรวมกัน 2.2 ล้านบาท และจะทยอยนำเสนออีกหลายร้อยรายในเร็วๆ นี้

ด้าน นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธพว.มีความพร้อมที่จะช่วยตัวเองโดยไม่ต้องเสนอโครงการขอชดเชยดอกเบี้ยให้เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งเราได้ออกสินเชื่อ SMEs บัญชีเดียว วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียงร้อยละ 5 และโครงการเบิกจ่ายแฟกตอริ่งทั่วไทยในวันเดียว วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียงร้อยละ 3.99% ซึ่งต่ำกว่าอัตรา MLR ที่ร้อยละ 6.875

โดยส่วนต่างนั้น ธพว.ยอมเฉือนเนื้อลดให้ลูกค้าเองไม่ได้ขอชดเชยจากรัฐแต่อย่างใด ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่เราควบคุมค่าใช้จ่ายในองค์กรได้ต่ำกว่าแผน และยังลดต้นทุนเงิน ณ สิ้นปี 2558 ที่ร้อยละ 2.77 คงเหลือในปัจจุบันเพียงร้อยละ 2.10 ธพว.เป็นสถาบันการเงินรัฐไม่ได้มุ่งหวังกำไรสูงสุดเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อมีผลประกอบการดีขึ้นแล้วก็จะคืนกลับให้ผู้ประกอบการทันที

“ผมเลยใช้คำว่า “หย่านมแม่” เพื่อสื่อความหมายว่าเราต้องเติบโตด้วยตัวเองอย่างมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว ต้องยืนหยัดทำหน้าที่ตามพันธกิจองค์กรไปสู่เป้าหมาย ถึงเวลาแล้วที่ธนาคารนี้ต้องเดินและวิ่งสู่เส้นชัยด้วยตัวเอง มีความสามารถที่จะอยู่รอดในระยะยาว ไม่ให้เกิดความผิดพลาดการบริหารเช่นในอดีต โดยใช้วิธีการบริหารความเสี่ยง การกำกับและควบคุมภายในที่ดี เพื่อให้ฐานการเงินมั่นคงยั่งยืน” นายมงคล กล่าว

ส่วนไตรมาส 4 นี้ ฝ่ายจัดการได้ปรับกระบวนทัพเพิ่มเติม เน้น 5 ด้านเสริมแกร่งและมุ่งสู่ธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการเต็มรูปแบบ ได้แก่ 1) ด้านพัฒนาระบบการให้บริการ เพื่อการอำนวยสินเชื่อและบริการลูกค้า 2) ด้านพัฒนาบุคลากรให้เป็นนักพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs 3) ด้านฐานะทางการเงินที่มั่นคงยั่งยืน 4) ด้านพัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมการตลาดเพื่อช่วยเหลือ SMEs และ 5) ด้านพัฒนาองค์กรให้เข้มแข็งด้วยจริยธรรมธรรมาภิบาล ปลูกฝังค่านิยมที่ดี ต้นแบบที่ดี มีความโปร่งใสน่าเชื่อถือ เพื่อรองรับภารกิจที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลไปสู่มือผู้ประกอบการอย่างเต็มกำลัง” นายมงคลกล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อต้องการให้สถาบันการเงินของรัฐปฏิรูปการทำงานร่วมกันทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคาร ออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ดูแลกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ Start Up เช่น การพัฒนาของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ หากพัฒนาไปขอใบรับรองผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินจะสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าได้อีกจำนวนมาก เนื่องจากไทยมีศักยภาพในเรื่องชิ้นส่วนอุตสาหกรรม เอสเอ็มอีแบงก์จึงเตรียมออกผลิตภันฑ์สินเชื่อใหม่ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย S-Curve คาดว่าออกมาได้เร็ว ๆ นี้

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น