xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ร่วม 4 หน่วยงานภาคี ยกมาตรฐาน SMEs-OTOP ด้วย อย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สสว.จับมือ อย.-ธพว.-สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และเซ็นทรัล แล็บ ไทย ร่วมยกระดับสินค้า SMEs-OTOP เน้นส่งต่อมาตรฐานสู่สากล อุ้มขายออนไลน์พ่วงโมเดิร์นเทรดง่ายขึ้น นำร่อง 4 จังหวัด อุ้ม SMEs เบื้องต้น 800 ราย

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลการสนับสนุน SMEs อย่างเต็มที่ทำให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ขึ้นมากมาย รวมถึงกลุ่ม Start Up ที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติในอนาคต ส่งผลให้มาตรฐานสินค้ากลายเป็นสิ่งสำคัญในการเปิดตลาดใหม่แก่ผู้ประกอบการ ดังนั้นจึงได้ลงนามความร่วมมือ (Mou) กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจในขั้นตอนการขอนุญาต อย. การตรวจสถานประกอบการและสุขอนามัยของน้ำ และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า ก่อนที่จะส่งสินค้าสำเร็จรูปไปขอจดแจ้งคุณค่าโภชนาการ (รายละเอียดของส่วนประกอบการ หรือ Nutrition Facts) โดยเบื้องต้นจะเน้นไปที่กลุ่มอาหารที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีความเสี่ยงปานกลาง เช่น สินค้าประเภทอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด กำจัดแมลง รวมถึงยาแผนโบราณ
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ที่ผ่านมีผู้ประกอบการยื่นขอขึ้นทะเบียน อย.เป็นจำนวนมาก และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยส่วนใหญ่อยู่ธุรกิจอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs และ OTOP โดยสินค้าประเภทอาหารมีการยื่นขอ อย.ประมาณ 7-8 แสนราย/ปี กลุ่มเครื่องสำอาง 2-3 แสนราย/ปี และกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ประมาณ 1 แสนราย/ปี โดยสัดส่วนสินค้าประเภทอาหารมีประมาณ 60-70% และมีการขอขึ้นทะเบียนทุกกลุ่มสินค้าโดยเฉลี่ยประมาณ 5 แสนราย/ปี

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องการยื่นขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร เพราะขาดองค์ความรู้ในการยื่นของอนุญาต ทั้งในด้านการเตรียมเอกสารและเตรียมสถานที่ผลิต ดังนั้น เพื่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจในการขออนุญาต และมีความพร้อมในการขออนุญาติอย่างถูกต้อง และเพื่อให้การพิจารณาอนุมัติสะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันการยื่นขอจดทะเบียน อย.สูงสุดอยู่ที่ 30 วัน
สสว. เซ็น MOU กับ 4 หน่วยงานภาคี
นอกจากนี้ ทาง สสว.ยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง สสว.และหน่วยงานภาคี ได้แก่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Central Lab Thai โดยแต่ละหน่วยงานภาคีมีหน้าที่แตกต่างกัน

โดยสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจะมีการนำ SMEs ขนาดเล็กที่ผลิตสินค้าประเภทอาหารเกษตรแปรรูปจำนวน 800 ราย นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี และนครปฐม ที่ต้องการได้ในอนุญาติ อย.เข้าร่วมโครงการประเมินศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าและขยายตลาด ขณะที่ในส่วนของห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง สสว.กับกระทรวงการคลัง จะช่วยเตรียมความพร้อมให้ SMEs ในเรื่องการจัดสถานประกอบการให้ถูกสุขลักษณะ และวิเคราะห์ส่วนประกอบการของอาหาร โดย สสว.ได้จัดเตรียมคูปอง OSMEP Voucher แจกให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการใช้บริการทดสอบสินค้าประเภทอาหารและเกษตรแปรรูป
ส่วน SME Development Bank ทำหน้าที่สนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการในกรณีที่ต้องมีการปรับปรุงสถานประกอบการ หรือเพื่อซื้อวัตถุดิบในการผลิต โดยธนาคารได้เตรียมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพียง 4% ต่อปี และสามารถให้วงเงินรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ผ่อนได้นานถึง 7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในโครงการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ระยะแรกนอกจากการนำร่องใน 4 จังหวัดแล้วต่อไป จะมุ่งส่งเสริมและพัฒนาสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ที่แหล่งผลิตใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ OTOP ในโครงการร้านค้าประชารัฐสุขใจ เน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจในการขอขึ้นทะเบียน อย.อีกด้วย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *