แบรนด์ “เด็กเอาถ่าน” (DEK AO THAAN) คือ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ที่ทำมาจาก “ชาร์โคล” (Charcoal) หรือ “ถ่าน” เผาจากต้น “ยูคาลิปตัส” ซึ่งมีคุณสมบัติดูดซับสารพิษได้เหนือว่าถ่านชาร์โคลที่เผาจากไม้ไผ่ เสียอีก
แค่ชื่อก็เรียกความสนใจได้ไม่น้อยแล้ว และยิ่งรู้ถึงที่มาที่ไปของธุรกิจ ต้องชมเชยเพราะสื่อความหมายเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นผลงานของสาวน้อย “สุชญา นพรัตน์” หรือน้อง “มายด์” นักศึกษาปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ที่นำวัตถุดิบต้น “ยูคาลิปตัส” ที่กำลังจะเปล่าประโยชน์ ให้คืนชีพกลับมาเป็นธุรกิจหลักของครอบครัว
กัณฐมณี บ่อเกิด และ นคร นพรัตน์ คุณพ่อคุณแม่ของน้องมายด์ เกริ่นนำที่มาธุรกิจ “เด็กเอาถ่าน” ว่า เดิมครอบครัวประกอบอาชีพปลูกต้นยูคาลิปตัส บนที่ดินกว่าร้อยไร่ ใน จ.อุบลราชธานี ส่งขายให้แก่บริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง จนเกิดกรณีไม่สามารถส่งขายต้นยูคาลิปตัสได้อีกต่อไป รายได้จึงกลายเป็นศูนย์ทันที ลูกสาวเลยเสนอไอเดีย นำต้นยูคาลิปตัสมาเผาเป็น “ถ่านชาร์โคล” แล้วแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม โดยรวม 2 จุดเด่นไว้ด้วยกัน ได้แก่ คุณประโยชน์ของชาร์โคลที่ได้รับการยกย่องว่าดีต่อสุขภาพคนสูง รวมกับคุณสมบัติของยูคาลิปตัสอุดมด้วยแร่ธาตุ และดูดซับสารพิษได้ดี จนแจ้งเกิดเป็นสินค้านวัตกรรมแปลกใหม่จากท้องตลาด
น้องมายด์ เล่าเสริมว่า ได้นำ “ชาร์โคลยูคาลิปตัส” ส่งวิจัยในห้องแล็ปของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) พบว่า โครงสร้างคาร์บอนมีความพรุนสูง มีรูพรุนที่เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบจำนวนมาก ทั้งในแนวระนาบและแนวตั้ง จึงมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการดักจับสารไม่พึงประสงค์ หรือนำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงามได้
“โดยทั่วไปชาร์โคลที่ขายในท้องตลาดจะเผาจาก “ไม้ไผ่” แต่เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้วัสดุเป็นไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งมีรูพรุนขนาดเล็กที่มากกว่า ทำให้การดูดซับสารพิษจะดีกว่าชาร์โคลไม้ไผ่ ขณะเดียวกัน เนื่องจากไม้ยูคาลิปตัสจะดูดซึมสารอาหารต่างๆ มาเก็บไว้กับตัวจำนวนมาก เมื่อนำมาทำเป็นชาร์โคล ก็จะมีคุณประโยชน์สูงกว่าตามไปด้วย” สุชญา อธิบายเสริม
จากแนวคิดของลูกสาว ประกอบกับเห็นเทรนด์รักสุขภาพ โดยเฉพาะจากชาร์โคลที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่ลูกร่วมมือร่วมใจกันทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง เบื้องต้นใช้งบกว่า 4 ล้านบาท แบ่งเป็นกว่า 3 ล้านบาท คือ นำเข้า “เตาเผาจากประเทศญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นเตาเผาระบบปิด โดยกระบวนการเผาต้องใช้อุณหภูมิสูงถึง 1,300 องศา เผาต่อเนื่องนานถึง 15 วัน กว่าจะได้เป็นชาร์โคลยูคาลิปตัส ส่วนเงินลงทุนอีก 1 ล้านบาท ใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
กัณฐมณี เผยด้วยว่า กระบวนการผลิตชาร์โคลยูคาลิปตัสอยู่ภายในควบคุมของกรมป่าไม้ ซึ่งจะเผาในระบบปิด ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนน้ำหนักเมื่อเผาเป็นถ่านชาร์โคลแล้ว จะลดลงจากก่อนเผา 50% ตามความชื้นที่หายไป จากนั้น นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามต่างๆ ซึ่งผลิตเองทั้งหมด เช่น สบู่ ผงพอกหน้า แชมพูสระผม ครีมนวดผม ผงล้างผักผลไม้ แชมพูอาบน้ำสัตว์เลี้ยง น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์กลิ่นยูคาลิปตัส ผลิตภัณฑ์ดูดกลิ่นอับชื้น กล่องฟองอากาศ และหมอนสุขภาพ เป็นต้น โดยใช้แบรนด์ว่า “เด็กเอาถ่าน” (DEK AO THAAN)
“ที่ใช้ชื่อ “เด็กเอาถ่าน” เพราะจุดเริ่มต้นมาจากความคิดของลูกสาวที่เขามาบอกกับพ่อแม่เองว่า ควรจะนำต้นยูคาลิปตัสมาทำเป็นชาร์โคลเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งตอนนั้น เราเองก็ไม่รู้เลยว่า จะนำต้นยูคาลิปตัสที่มีอยู่มากมายไปใช้ประโยชน์อะไร แบรนด์เลยเป็นการสื่อว่าเด็กคนนี้ มีความคิดดีที่จะทำงานช่วยพ่อแม่ อีกทั้งถ่านก็ยังสื่อถึงชาร์โคลได้ด้วย” คุณแม่เล่าถึงที่มาของชื่อแบรนด์
ทั้งนี้ พ่อแม่ลูกทั้งสามแบ่งหน้าที่กันอย่างลงตัว โดยคุณพ่อจะรับผิดชอบในการขนส่งสินค้า คุณแม่ดูแลด้านการตลาด ส่วนน้องมายด์เรียนด้านวิศวกรรมเคมีมาโดยตรง ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
เธอ เผยด้วยว่า ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่วนใหญ่จะอาศัยงานวิจัยที่มีอยู่แล้วใน มทร.กรุงเทพนำมาต่อยอด รวมถึง ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และเข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start up) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งจะได้รับการส่งเสริมให้ก้าวเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่เต็มตัว
ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม “เด็กเอาถ่าน” ออกสู่ตลาดมาประมาณ 1 ปีแล้ว นับถึงปัจจุบัน ยังเป็น “รายแรกและรายเดียวในเมืองไทยที่เป็นชาร์โคลยูคาลิปตัส มีช่องทางตลาด ขายผ่านหน้าร้านของตัวเองที่อยู่ในย่านสยามสแควร์ วัน และขายส่งให้แก่ตัวแทนทั่วประเทศ เฉลี่ยยอดขายในปัจจุบันประมาณ เดือนละเกือบหนึ่งแสนบาท
สาวมายด์ เผยในตอนท้าย เล่าถึงแผนในอนาคตว่า หลังจากเรียนจบ จะเข้ามาดูแลธุรกิจนี้อย่างเต็มตัว โดยวางตำแหน่งธุรกิจให้เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากชาร์โคลครบวงจร รวมถึง จะวิจัยและพัฒนานวัตกรรมชาร์โคลแปลกใหม่ออกมาเสมอ ที่เตรียมไว้ เช่น อุปกรณ์ชาร์โคลชะลอการสุกของผลไม้ มีประโยชน์ช่วยยืดอายุในการส่งผลไม้สดไปต่างประเทศได้นานยิ่งขึ้น เป็นต้น
“มายด์วางแผนไว้ว่าหลังเรียนจบแล้วจะมาสานต่อธุรกิจนี้แน่นอน โดยเฉพาะขยายส่งออกต่างประเทศ เพราะสำหรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน เมื่อพูดถึงชาร์โคล เขาจะรู้ถึงคุณสมบัติเป็นอย่างดี ส่วนตลาดในไทย ก็เชื่อว่า ชาร์โคลจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามเทรนด์รักสุขภาพ และหากเรามีนวัตกรรมมานำเสนอต่อเนื่อง เชื่อว่าตลาดสุขภาพความงาม ยังมีโอกาสอีกมาก” น้องมายด์ กล่าว
เห็นไอเดียและความตั้งใจแบบนี้ ยอมรับเลยว่าสาวน้อยคนนี้เหมาะแล้วจะเป็นเจ้าของแบรนด์ “เด็กเอาถ่าน”
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *