xs
xsm
sm
md
lg

ผมก็แค่... “นางนวลเฒ่าแห่งวงการวรรณกรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก้มแล้วเงย เงยแล้วก้ม แสนเจ็บปวด... เพียงสายตาเหลือบไปพบวัตถุที่หลายมือกำลังถือประคอง ไม่ใช่มวลกระดาษเย็บรวมเล่มอย่างเคยคุ้น แต่กลับเต็มไปด้วยก้อนโลหะแห่งเทคโนโลยีละลานตา มีเพียงฝ่ามือบางๆ ในวันแห่งโชคชะตาเท่านั้นที่ช่วยปลุกสัญญาณชีพ “นางนวลเฒ่าแห่งวงการวรรณกรรม” ให้สยายปีกโผบินด้วยใจอิ่มเอมได้อีกครั้ง
กระทั่งบันดาลให้เกิดเรื่องราวร้อยเรียงแห่งยุคสมัย ที่มาของรางวัลชนะเลิศกวีนิพนธ์ โล่พระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ปีล่าสุด ผ่านปลายปากกาของหนึ่งในคนชายคาเครือผู้จัดการ ชายผู้มีนามว่า “บัญชา อ่อนดี” 



โลกที่ไร้การสไลด์-การกดไลค์-การเข้าชม

ปลายนิ้วกร้านโลกค่อยๆ ลัดเลาะฝากสัมผัสบนเนื้อกระดาษเล่มแล้วเล่มเล่าเอาไว้อย่างบางเบา น้ำหนักจากฝ่ามือของเขาที่เข้าประคองเรื่องเล่าผ่านน้ำหมึก บ่งบอกถึงการถ่ายทอดความรู้สึกที่นุ่มนวลเสมอสุ้มเสียง

ถึงไม่บอกก็พอจะรู้ว่าอะไรที่ทำให้คนหลงยุคอย่างเขา ไม่เลือกแทนที่วัตถุในอุ้งมือด้วยนวัตกรรมการเชื่อมต่อแห่งสมัยนิยม... ไร้การสไลด์ ไร้การกดไลค์ ไร้ผู้เข้าชม แต่รอยย่นบนมุมปากภายใต้ไรหนวดแห่งอิสรภาพเหล่านั้น กลับแลดูอบอุ่นและแตกต่าง เหมือนกับมีพลังงานบางอย่างซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดบนอุ้งมือ...

พลังงานบางอย่างที่มีเพียงคนก้มแล้วเงย เงยแล้วก้ม อยู่ในโลกแห่งตัวอักษรเท่านั้นจึงจะเข้าใจ... พลังงานชนิดเดียวกับที่รังสรรค์ให้ชายคนนี้ร้อยเรียงความรู้สึกผ่านฉันทลักษณ์ จนกลั่นออกมาเป็นเล่มกวีนิพนธ์ดีกรีรางวัล เล่มที่ชนะเลิศการประกวดเซเว่นบุ๊กอะวอร์ด ครั้งที่ 13 ประจำปีนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “บางคนอาจเดินสวนทางเราไป”

“มีกวีอยู่บทหนึ่งในนั้นที่ผมเขียนไว้ เขียนจากเรื่องจริง ซึ่งน่าจะเหมาะกับสถานการณ์ทุกวันนี้ บทที่ใช้ชื่อว่า 'นางนวลเหนือลุ่มเจ้าพระยา' มันมาจากวันหนึ่ง ผมนั่งเรือด่วน แล้วเกิดไปเจอเด็กคนหนึ่งถือหนังสือและอ่านอยู่บนเรือด่วน เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย! ยังมีหลงเหลืออยู่อีกเหรอวะ ไอ้เด็กประเภทนี้ (เผยยิ้มกว้างแห่งความปลาบปลื้ม) ผมเลยเอามาเขียนเป็นกลอน พูดถึงหนังสือเรื่อง 'โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล' ไปด้วย ซึ่งเป็นหนังสือที่ดังมาก

ภาพของเด็กผู้หญิงคนนั้นติดอยู่ในความทรงจำของผมหลายวัน จนกระทั่งต้องตัดสินใจเขียนออกมาเป็นกลอน เปรียบเธอเป็นเหมือนโจนาธาน เจ้านกนางนวลที่ผิดแผกแตกต่างไปจากฝูง นกตัวอื่นเอาแต่ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือ เธอเป็นคนเดียวในเรือด่วนที่นั่งอ่านหนังสือ เดี๋ยวเงยหน้า เดี๋ยวก้มหน้า สังเกตเห็นว่าน้องมีความสุขกับการอ่านมาก

มันบอกไม่ถูก ไม่รู้สิ..เวลาผมอ่านหนังสือแล้วชอบบทไหนมากๆ ผมก็จะทำอย่างนั้นเหมือนกัน คือช่วงไหนที่กินใจ อิ่มใจ สะเทือนใจ โดนใจ ก็จะเงยหน้าจากหนังสือมาคิดอะไรต่อ จากนั้นก็ก้มหน้าลงไปอ่านใหม่ มันเลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราเขียนกลอนบทนี้ออกมา” สิ้นเสียงอธิบายความ ตามมาด้วยเสียงพลิกหน้ากระดาษอีกสัก 2-3 ครั้ง วรรณศิลป์แห่งถ้อยคำก็เริ่มบรรเลงผ่านลมหายใจเจ้าของกวี

…เหนือผืนน้ำ ค่ำนั้น จันทร์กระจ่าง
เจ้าหลงทาง พลัดฟ้า มาจากไหน
โจนาธาน ลิฟวิงสตัน อัศจรรย์ใจ
เธอถือไว้ นางนวล ด่วนเจ้าพระยา


แตกต่างจาก ฝูงนก โลกเสมือน
ปรบปีกเคลื่อน สมัยนิยม คนก้มหน้า
บินเดี่ยว เที่ยวทะยาน ผ่านเมฆา
ด้วยสายตา เสาะแสวง แห่งเสรี



[อ่านแล้วอิ่ม อิ่มแล้วอ่าน]

โลกของเธอ กว้างใหญ่ กว่าในจอ
ฟ้าในเฟซฯ ไม่พอ ต่อวิถี
พยายาม ตามฝัน วันเดือนปี
รักจึงพร้อม ยอมพลี หนีสังคม


เปิดปิดหนังสือ ก้มเงยหน้า โจนาธาน
อิ่มแล้วอ่าน อ่านแล้วอิ่ม ยิ้มสุขสม
ทอแววตา เหินไป ในริ้วลม
เงยแล้วก้ม ก้มแล้วเงย เอ๋ยนางนวล


ท่ามกลาง หมู่นก โลกเสมือน
ปรบปีกเคลื่อน บินตัด ลมพัดหวน
แหกทุกคุก คอกขัง อย่างใคร่ครวญ
ทะยานเหนือ เรือด่วน นางนวลเยาว์


โลกของเธอ งามกว่าใคร ในหน้าจอ
แม้กระดาษ มอซอ ปกก็เก่า
กลับมามอง ผองนก ในอกเรา
นางนวลเฒ่า ยังเฝ้าทะยาน ฝึกการบิน…


“พอเห็นเด็กอ่านหนังสือแบบนี้ ตอนสุดท้ายผมเลยบอกว่า กลับมามองผองนกในอกเรา นางนวลเฒ่าตัวนั้นหมายถึงผม ที่ยังคงอ่านอยู่ ยังคงเฝ้าฝึกทะยาน ฝึกการบินอยู่เหมือนกัน (ยิ้มบางๆ) นานๆ ทีเราจะเห็นเด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือตามที่ต่างๆ เลยน่าจะเป็นคำตอบได้ว่า แวดวงวรรณกรรมไทยทุกวันนี้ ถ้ามันไม่ตาย มันก็คงโคม่าแล้วล่ะ

หลายคนถามว่าแล้วหนังสือมันจะอยู่ได้เหรอ? แวดวงวรรณกรรมมันจะตายจริงเหรอ?... ก็ทำไมจะไม่ตายล่ะ ในเมื่อเวลาเดินผ่านไปผ่านมาหรือไปที่ไหน ยากมากที่จะเห็นคนอ่านหนังสือในยุคนี้ จะบนรถเมล์ รถไฟฟ้า หายากมาก... ก็ใครจะไปอ่าน ในเมื่อคนเอาแต่ก้มหน้าก้มตาเล่นโทรศัพท์

หรือแม้แต่เวลาเข้าไปในร้านหนังสือใหญ่ๆ แทบจะมองไม่เห็นหนังสือแนววรรณกรรมเลยนะ หรือต่อให้เล่มนั้นอยู่ในหมวดเรื่องสั้น มันจะเป็นเรื่องสั้นอีกแนวหนึ่ง ส่วนหน้าแผงที่เห็น จุดที่ดีที่สุดก็จะเป็นพวกหนังสือธรรมะ หนังสือประเภท How To ทำอย่างไรให้รวย ไม่ก็เป็นหนังสือดูดวง เล่นหุ้น ฯลฯ เป็นอะไรพวกนี้ไปหมดแล้ว

เพราะฉะนั้น ถามว่าวรรณกรรมจะอยู่ได้ไหม คงอยู่ได้ครับ แต่อยู่ได้เป็นกลุ่มๆ อยู่ได้เป็นพวกๆ และในอนาคต ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปก็คงอยู่ยาก รู้ไหมว่าทุกวันนี้ นักเขียนที่เป็นเบอร์ต้นๆ หลายคนของวงการวรรณกรรมยังเคยบ่นให้ผมฟังเกี่ยวกับเรื่องหนังสือของเขาเองที่ขายเริ่มยาก ยอดจำหน่ายไม่เดินเหมือนก่อนขนาดเป็นเบอร์ต้นๆ ยังบ่นเลย แล้วท้ายๆ แถวอย่างผม 'บัญชา อ่อนดี' จะไปไหนได้ล่ะเนี่ย (หัวเราะเบาๆ)


ถ้าจะมีคนสนใจหนังสือวรรณกรรมในปัจจุบันนี้ โดยส่วนตัวผมว่าต้องมีรางวัลซีไรต์ช่วย คือต้องเป็นหนังสือเล่มที่ได้ซีไรต์ แล้วก็คงเป็นไม่กี่เล่มของปีนั้นๆ ที่ขายดี เล่มอื่นๆ ขายยากถ้าไม่ใช่นักเขียนป๊อบ ลองคิดดูง่ายๆ นิยายของผมเล่มหนึ่งชื่อ ‘เสือตีตรวน’ ผ่านเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ ปี 2546 แต่พอไม่ได้ซีไรต์ กลายเป็นหนังสือที่ขายแทบไม่ได้เลย ไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติทีไรอายมาก กองเป็นตั้งๆ อยู่ในบูทเลย ทั้งๆ ที่เสือตีตรวนจะครบรอบ 20 ปีแล้ว (หัวเราะ)

แต่เมื่อพูดอีกด้านเกี่ยวกับโลกของการอ่านในบ้านเรา หนังสือที่เป็นเรื่องแต่งก็ยังขายได้ รวมทั้งขายดีอยู่ แต่ไม่ใช่วรรณกรรมเพียวๆ นักอ่านจำนวนมากติดตามอ่านผลงานของนักเขียนที่พวกเขาชื่นชม หลายปีก่อนผมไปเป็นวิทยากรให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งเป็นของรัฐ ไปพูดเกี่ยวกับการอ่านการเขียนให้นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ฟัง

ช่วงก่อนขึ้นเวที นักเขียนคนหนึ่งซึ่งไปเป็นวิทยากรร่วมกับผม กระซิบกับผมว่าชอบงานเขียนของผมมาก อยากเป็นนักเขียนแบบผม จากนั้นเป็นการแนะนำตัวต่อนักศึกษา พิธีกรแนะนำผมก่อน มีเสียงปรบมือเปาะแปะ จนถึงวิทยากรอีกคน พอรู้ว่านามปากกาเขาเท่านั้น น้องครับ นักศึกษาอักษรศาสตร์กรี๊ดกันลั่นห้องประชุม ผมนึกในใจว่ายังคิดจะมาเป็นคนเขียนเรื่องแบบผมอยู่หรือเปล่า

ที่จริง ผมเองต้องมองงานของตัวเองด้วย ในฐานะคนเขียนหนังสือ เราเขียนน่าสนใจจริงหรือ เขียนดีแล้วทำไมแทบไม่มีใครอ่าน เรื่องนี้ผมพูดคุยสอบถามกับตัวเองบ่อยมากว่า สรุปแล้วอะไรคือจุดอ่อนในส่วนนี้ของวงการวรรณกรรมไทย เป็นนักเขียนหรือนักอ่านกันแน่?



รางวัลซีไรต์ สนามใหญ่เปลี่ยนชีวิต!!

[(ซ้าย) กวีนิพนธ์ที่ชนะเลิศการประกวดเซเว่นบุ๊กอะวอร์ด ปี 59 | (ขวา) นวนิยายที่เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ ปี 46]
ไม่ใช่แค่ “คนในวงการบันเทิง” เท่านั้นที่ต้องการให้มีใครสักคนช่วยฉาย “สปอตไลต์” ให้ได้กลายเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า ให้กลายเป็นเสียงจริงตัวจริง ท่ามกลางประกายพร่างพรายนับล้านดวง แต่ “หนังสือในวงการวรรณกรรม” ก็ต้องการเวทีประกวดที่จะทำหน้าที่นั้นเช่นกัน เพื่อให้ตัวอักษรบนหน้ากระดาษยังคงฉายแสงอยู่ในสายตาของนักอ่าน เพื่อให้ยังไม่ถูกหลงลืมไปตามวิถีแห่งยุคสมัย

การถูกตีตราจากคณะกรรมการตัดสิน จึงยังคงเป็นตัวช่วยสำคัญในการคัดกรองให้เหล่าหนอนหนังสือได้เปิดโลกทัศน์ผ่านรูปเล่ม ช่วยอุดช่องโหว่ในยุคแห่งชีวิตรีบเร่ง จนแทบไม่เหลือเวลาละเลียดเลือกเรื่องเล่าผ่านตัวอักษรจากรสนิยมของตัวเอง โดยเฉพาะรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์มาตรฐานอาเซียนที่ปีๆ หนึ่งประกาศรางวัลใหญ่แค่ครั้งเดียวอย่าง “ซีไรต์” (S.E.A. Write: South East Asian Writers Awards) ยิ่งช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่วงการประพันธ์ได้อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง

“โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าเสน่ห์ของซีไรต์อยู่ที่ปีหนึ่งจะประกาศหนังสือเพียงเล่มเดียว อย่างปีนี้กวีนิพนธ์ก็มีกวีนิพนธ์แค่เล่มเดียว ไม่มีรองชนะเลิศ ไม่มีประเภทเรื่องสั้น ไม่มีนวนิยาย ปีถัดไปเป็นรอบของซีไรต์เรื่องสั้น ก็ประกาศแค่เล่มเดียว ในขณะที่รางวัลอื่นๆ จะมีหลายเล่มที่ได้รับรางวัล ได้รับอันดับรองลงไป อาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนจึงให้ความสนใจกับซีไรต์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้วรางวัลอื่นๆ โดดเด่นไม่แพ้กัน แต่บรรณารักษ์ ครูบาอาจารย์จะซื้อหนังสือเล่มที่ได้ซีไรต์มากกว่ารางวัลอื่นๆ


ที่สำคัญ สื่อมวลชนหลักๆ เสนอข่าวซีไรต์ในแบบที่ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก หนังสือเล่มไหนที่ได้ซีไรต์ปุ๊บ เอาง่ายๆ จากหนังสือที่เคยวางอยู่หลังร้าน พอได้ซีไรต์จะถูกส่องสปอตไลต์ใส่ทันที ขนาดว่าหนังสือ Best Seller อาจยังสู้ไม่ได้ ยิ่งเป็นปีที่เป็นผลรางวัลประเภทเรื่องสั้นหรือนิยาย จะยิ่งเป็นที่สนใจขึ้นมาทันที คือปกติแล้ว คนอ่านจะสนใจเรื่องสั้น นิยายมากกว่าประเภทกวีนิพนธ์อยู่แล้ว”

ในเมื่อมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่ทำให้หนังสือที่ได้รางวัลจากสนามใหญ่ของแวดวงวรรณกรรมแห่งนี้ ได้รับการฉายสปอตไลต์ให้ปรากฏเด่นอยู่ในจอตาของนักอ่านได้มากขึ้น จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่เจ้าของบทกวีรวมเล่มเรื่อง “บางคนอาจเดินสวนทางเราไป” จะไม่ส่งหนังสือรางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊กอะวอร์ดประจำปีนี้เข้าประชัน ซึ่งขณะนี้ตัวอักษรภายใต้กรอบฉันทลักษณ์ของเขา ก็ได้เข้าไปโลดแล่นอยู่ในสังเวียนรอบ 18 เล่มสุดท้ายของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนเรียบร้อยแล้ว

“สำหรับผม ทัศนะเกี่ยวกับรางวัลซีไรต์ คือช่องทางหนึ่งซึ่งจะพาผลงานของนักเขียนที่อาจจะมีคนอ่านติดตามหรือรู้จักอยู่ในระดับหนึ่ง ให้กลายเป็นหนังสือในวงกว้างในอีกระดับหนึ่งซึ่งกว้างใหญ่มาก นั่นนับว่าเป็นผลดีต่อตัวงานของเราที่เขียนออกมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การตัดสินมันมีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เป็นเรื่องของรสนิยมที่อาจจะพอดีกับสิ่งที่เราเขียน หรืออาจจะเฉยๆ กับผลงานที่เราส่งเข้าไป

ที่สำคัญ ผมว่าเป็นเรื่องของวาสนาด้วย แต่ในฐานะของคนเขียน ผมต้องเขียนในสิ่งที่ตัวเองคิดเห็นว่าดี น่าสนใจ หากเป็นร้อยกรองก็ต้องแม่นยำ ถูกต้องในฉันทลักษณ์ ทุกคำ ทุกบรรทัดต้องเคลียร์ ง่ายและงามซึ่งมันต้อง “ผ่าน” จากตัวเราเองเสียก่อน ก่อนจะไปถึงสายตาของกรรมการและคนอ่าน ที่เหลือจากนั้นไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เป็นเรื่องของอนาคต

เพียงแต่เราต้องทำให้สุดฝีมือ หาข้อบกพร่อง หาข้อดีที่คิดว่าใช่สำหรับนำไปใช้ปรับปรุงเพิ่มเติมในผลงานเล่มต่อไป ผมว่าเราควรแข่งกับตัวเอง และต้องฟังทัศนะของคนอื่น ผมชอบฟังทัศนะของคนอื่นๆ เพราะเราเองพอเขียนแล้วก็ว่าตัวเองเขียนดี เขียนใช้ได้ แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนอ่านชอบไหม

[“บางคนอาจเดินสวนทางเราไป” หนังสือชนะเลิศประเภทกวีนิพนธ์ในสนามนี้]

กลอนหลายชิ้นของผมในเล่มบางคนอาจเดินสวนทางเราไป ผมเขียนแล้วไม่รู้จะส่งไปลงสนามไหน ทุกวันนี้มีหน้าตามนิตยสารให้ส่งกลอนไปตีพิมพ์น้อยมาก ดังนั้น บางชิ้นผมเลยลองส่งไปประกวดตามที่รางวัลต่างๆ เปิดโอกาส เพราะอยากให้คนที่เป็นกรรมการได้อ่าน อย่างน้อยมีคน 6-7 คนได้อ่านงานของเรา ถ้าเข้ารอบก็แสดงได้ว่าพอไหว ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ บางชิ้นกลายเป็นได้รางวัลชนะเลิศ เราก็มีกำลังใจทำรวมเล่มออกมา



ยืนกราน! ยอม “หลงยุค” อย่างเต็มภาคภูมิ

เสียงหัวเราะแห้งๆ ตามมาด้วยท่าทีส่ายหน้า คือคำตอบที่บ่งบอกได้ดีที่สุดแล้วสำหรับความเป็น “บัญชา อ่อนดี” ถึงแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า “รสนิยมของคนยุคเก่า” ที่อัดแน่นอยู่ในตัว จะยิ่งทำให้อณูความคิดของเขา แทบไม่มีแสงไฟที่ไหนสาดส่องเข้าหา แต่นักกลอนรายนี้กลับยินดีที่จะเผยแพร่ผลงานผ่านรูปแบบที่คุ้นชิน ยอมวางขายผ่านสายพานการผลิตแบบเดิม มากกว่าจะหวังพึ่งโลกโซเชียลฯ หยั่งเสียงนักอ่านเพื่อลดความเสี่ยง

“กลายเป็นว่าการซื้อขายหนังสือทุกวันนี้เป็นรูปแบบใหม่ไปแล้วครับ นักเขียนส่วนใหญ่จะมีเฟซบุ๊กหรือแฟนเพจของตัวเอง แล้วก็จะโพสต์ถามก่อนผลิตหนังสือออกมาว่า มีแผนจะผลิตหนังสือเล่มนี้ออกมา มีใครสนใจจะซื้อไหม

บางสำนักพิมพ์ ถ้าดูแล้วมันจะไม่คุ้มทุน เขาก็จะไม่พิมพ์เลย คือถ้านับยอดคนจองได้ 200 ราย เขาไม่พิมพ์ ต้อง 500 หรือ 1,000 ขึ้นไปถึงจะพิมพ์ มันถึงจะคุ้มทุน และที่สำคัญ ทำแล้วมันก็ขายได้จริงๆ ด้วยนะ ถามว่าทำไมถึงขายได้ ก็เพราะว่ามีแฟนๆ ติดตามงานที่อยากซื้อ แล้วก็มีเพื่อนๆ ที่รู้จักอยากช่วยอุดหนุน

เทียบกับระบบวางขายในร้านหนังสือรูปแบบเดิม ต่อให้คุณพิมพ์กับสำนักพิมพ์ที่มีหน้าร้านหนังสือเป็นของตัวเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมาซื้อหนังสือคุณ เพื่อนๆ เขาก็เลยมายุผม บอกว่าบัญชาทำสิ ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กสิ ทำแล้วจะขายได้เพิ่มขึ้น 200-300 เล่มเลยนะ อย่างน้อยก็มีเพื่อนๆ กันนี่แหละที่ซื้อ ซึ่งแบบนี้ผมมองว่ามันเหมือนเป็นการซื้อขายเพราะสายสัมพันธ์กัน มากกว่าซื้อเพราะอยากอ่านจริงๆ


หลายๆ คนยังมาถามผมอยู่เลยว่า นี่บัญชาเขียนกลอนและยังหาสนามลงอยู่เหรอ จะต้องเอางานส่งไปลงประกวดอีกเหรอ? เพราะทุกวันนี้ หลายๆ คนเขาใช้หน้าแฟนเพจของเขาเขียนทุกอย่างในนั้นเลยไงครับ แล้วก็สามารถเช็กเรตติ้งได้ตลอด เพราะมีคนคอยมากดไลค์ให้ด้วย มันทำให้เรารู้ฟีดแบ็กได้เลยเดี๋ยวนั้น นักเขียนหลายๆ คนก็พยายามปรับตัว หันมาเล่นโซเชียลฯ ซึ่งต่างจากผม ผมยังไม่คิดจะทำในทางนั้น

ผมยังอยากขอยืนอยู่ตรงจุดเดิมตรงนี้ก่อน เราลองมาวัดกันอีกสักระยะนึงดู ผมอยากรู้เหมือนกันว่ามันยังจะมีคนที่เป็นแบบผมเหลืออยู่อีกไหม คือผมไม่ได้ปฏิเสธโลกออนไลน์นะ แต่ผมยังชอบกลิ่นอายแบบเดิมๆ แบบนี้ กลิ่นอายแห่งโลกของการเขียนการอ่านหนังสืออย่างเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว

เมื่อก่อน ทุกวันอังคาร ผมจะตื่นเช้ามากเลยนะ ทั้งๆ ที่กินเหล้าเมา ตื่นมาเพื่อที่จะไปร้านหนังสือ ไปเปิดดูว่าคอลัมน์ในนิตยสารที่เพิ่งวางแผง มีงานของเราที่ส่งไปลองสนามได้ลงบ้างไหม วันไหนเจอก็ปลื้มใจ อ่านแล้วอิ่ม อิ่มแล้วอ่านอยู่กับหน้ากระดาษอยู่แบบนั้น


มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ได้ มันเหมือนเราได้ฟังเพลงตามวิทยุ แล้วจู่ๆ เขาเปิดเพลงที่เราชอบนั่นแหละครับ จะรู้สึกว่ามันเพราะฉิบหายเลย (หัวเราะ) แต่เวลาเปิดฟังเอง มันดันไม่ไพเพราะเท่า ความตื่นเต้นมันผิดกัน เพราะเรารู้อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนฟังไงว่ามันจะต้องเป็นเพลงนี้

เสน่ห์จากความเสี่ยง สุ้มเสียงจากอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่อาจคาดเดา... ทั้งหมดนี้คือสัญชาตญาณที่กวีมือรางวัลอย่างเขาใช้นำทางมาโดยตลอด ลองย้อนกลับไปสูดกลิ่นอายแห่งความทรงจำในวันเก่าๆ วันที่กลิ่นอับๆ จากมุมเล็กๆ ในห้องสมุดวิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่ ยังคงลอยฉุนเตะจมูก วันเดียวกับที่นักกีฬาตะกร้อทีมมหาวิทยาลัยนายนี้ได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริง

“วันหนึ่งไปเข้าห้องสมุด ก็ไปเจอ 'นิตยสารถนนหนังสือ' ซึ่งมันเปลี่ยนชีวิตผมเลย พอเข้าไปอ่าน เราไปเจอกับกลอนที่มันไม่ใช่กลอนที่เราเขียน แต่มันเต็มไปด้วยแง่มุมที่เราแทบจะไม่เคยรับรู้มาก่อน เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของนักศึกษาที่เต็มไปด้วยความดุเดือด ไม่ใช่กลอนรัก ไม่เหมือนที่เคยเจอในบทเรียนวรรณคดี มันยิ่งทำให้เรารู้สึกพลุ่งพล่าน ก็เลยตะลุยอ่านแหลกตั้งแต่นั้นมา


ชีวิตตอนนั้นเลยมีอยู่ 2 ด้าน คือเล่นกีฬากับอ่านหนังสือ แต่ไม่ได้อ่านหนังสือเรียนเลย จะเลือกอ่านแต่หนังสือที่ชอบ หยิบเล่มนู้นเล่มนี้มาอ่านไปเรื่อย... จำได้เคยอ่านเจอมา 'ชาติ กอบจิตติ' เคยบอกไว้ว่า ถ้าอยากรู้ว่าหนังสือเล่มไหนน่าสนใจ เล่มไหนคือหนังสือที่ดี ให้พลิก 2-3 หน้าแรกอ่าน หนังสือที่ดีอ่านแล้วจะไม่อยากวาง บางทีอ่านแค่ 2-3 ประโยคแรกก็รู้แล้ว ถ้ามันน่าเบื่อ เราจะไม่อยากอ่านมันต่อ

ลองปล่อยให้ตัวเองได้ลองละเลียดซึมซับเรื่องเล่า แล้วจะได้คำตอบเองว่าอยากจะไปต่อกับเรื่องราวเหล่านั้นอีกหรือเปล่า ด้วยวิธีเดียวกันนี้เองที่ทำให้ลูกชายคนที่ 9 ซึ่งเป็นคนเล็กสุดของครอบครัวอย่างบัญชา หรือที่ใครๆ เรียกอย่างเอ็นดูว่า “น้องน้อย” ใช้ตอบทุกข้อสงสัยในชีวิต ครั้งนี้ก็เช่นกัน...

“ถ้าเป็นการสั่งพิมพ์หนังสือแบบ on demand พิมพ์ตามจำนวนที่สั่งจอง คนอาจจะสั่งเพราะคืองานของพี่บัญชา ซึ่งอารมณ์มันจะต่างกันมากเลยนะ กับเวลาเราไปตามที่ต่างๆ แล้วเห็นเอง คิดดูว่าถ้าขึ้นรถเมล์สาย 64 แล้วมีใครสักคนมาถือหนังสือเรานั่งอ่านอยู่ มันจะปลื้มมากเลยนะเว่ย คงจะดีใจมากๆ ที่มีคนไม่รู้จักมาอ่านงานของเราด้วย แต่ถ้าเป็นหนังสือสั่งจอง มันก็เพราะคนรู้จักมาสั่งเพราะสงสาร


ผมเลยยังอยากจะงัดกับมันดูอีกสักตั้ง มันอาจจะเป็นไฟไหม้ฟางในรอบ 10 ปีก็ได้ ประมาณว่าพอหนังสือเริ่มตายไป คนค่อยเริ่มโหยหา เหมือนคนเริ่มโหยหาของวินเทจ อาจจะเป็นไปได้ที่วันนึงคนบอกว่า เก็บหนังสือเล่มนี้ไว้เถอะ หนังสือของยาขอบนะ หายากนะ ก็เหมือนร้านหนังสือเก่าๆ ที่จตุจักรหลายๆ ร้านที่มีอยู่ทุกวันนี้ ยังเก็บหนังสือเก่าๆ ในตำนานเอาไว้ และผมยังหวังว่าวงการวรรณกรรมบ้านเราจะหลงเหลืออะไรแบบนั้นเอาไว้

ปลายนิ้วกร้านโลกที่เคยฝากสัมผัสทิ้งเอาไว้บนเนื้อกระดาษ ค่อยๆ แง้มปิดช่องว่างระหว่างอากาศ เก็บเกี่ยวความฝันในอุ้งมือวางลงบนพื้นระนาบ ทิ้งให้กลิ่นแห่งความเก่ากลายเป็นแค่ความรู้สึกโหยหา ภายใต้วิถีสังคมก้มหน้า “มองจอ” จนแทบไม่เหลือเวลากลับมา “มองใจ” ของตัวเอง...


สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วชิร สายจำปา




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น