xs
xsm
sm
md
lg

ครม.โอเค! “พี่ช่วยน้อง” เปิดทางบริษัทยักษ์ช่วยเอสเอ็มอีหักภาษีได้ 2 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ (ขวา) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ภาพจากเว็บไซต์ www.thaigov.go.th)
ครม.ไฟเขียวมาตรการ “พี่ช่วยน้อง” เปิดทางบริษัทขนาดใหญ่นำค่าใช้จ่ายช่วยเอสเอ็มอีไปหักภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิ พร้อมเห็นชอบมาตรการหนุนภาคเอกชนช่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชนบท นำค่าใช้จ่ายหักภาษีได้ 2 เท่าเช่นกัน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (2 ส.ค.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี (มาตรการพี่ช่วยน้อง) และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ทั้งนี้ สาระสำคัญของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี (มาตรการพี่ช่วยน้อง) คือการส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ช่วยบริษัทเล็กหรือเอสเอ็มอี โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายที่ช่วยเอสเอ็มอี เช่น ถ่ายทอดความรู้ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การส่งเสริมการตลาด ทว่าไม่มีอำนาจควบคุมดูแลในกิจการของน้อง สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักภาษีได้ 2 เท่าของรายได้ แต่ไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิ โดยนิยามของบริษัทขนาดใหญ่ต้องมีทรัพย์สินถาวรมากกว่า 200 ล้านบาท มีพนักงานเกิน 200 คน ส่วนนิยามของบริษัทเล็ก หรือเอสเอ็มอี เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นเอสเอ็มอีซึ่งเป็นธุรกิจที่มีทรัพย์สินถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาท และการจ้างงานไม่เกิน 200 คน

สำหรับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท โดยกระทรวงการคลังเสนอให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการจ่ายเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งท่องเที่ยวในชนบท การลงทุน เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ทางพิเศษหรือสัมปทาน โทรคมนาคม ไอซีที พลังงานทางเลือก ระบบบริหารจัดการน้ำหรือชลประทาน ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ ระบบจัดการของเสีย การลงทุนดังกล่าวต้องสอดคล้องกับระเบียบมหาดไทยว่าด้วยการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนคำว่าแหล่งท่องเที่ยวรวมถึงอุทยานแห่งชาติ โบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวอื่น องค์การของรัฐ โดยต้องได้รับการรับรองจากราชการและต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้องค์การของรัฐโดยไม่มีค่าตอบแทน ภาคเอกชนที่ช่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาและการกีฬา โดยจะสามารถทำได้ 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559

นายณัฐพรกล่าวด้วยว่า คาดมาตรการทั้งสองข้อนี้จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ปีละ 5,000 ล้านบาท แต่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมไทย ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท ส่งผลให้ชนบทได้รับการพัฒนาโดยไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐ และสอดคล้องกับความต้องการสาธารณูปโภคในชนบทอย่างแท้จริงตามแนวทางประชารัฐ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น