ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ทั้งที่เริ่มธุรกิจไปสักระยะ หรือผู้ที่คิดขยายธุรกิจ หลายรายมักประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ อาทิ ขาดการบริหารจัดการที่ดี ไม่มีความรู้ในธุรกิจมากพอ หรือแม้กระทั่งประสบปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน บางรายที่มีการแก้ปัญหาอย่างถูกจุด ก็ทำให้ธุรกิจไปต่อได้ไกล แต่มีอีกหลายรายที่ต้องสะดุดตรงกลางทางด้วยสาเหตุเพราะ 5 พฤติกรรม ดังต่อไปนี้
1. ไม่มองเรื่องการทำกำไรเป็นเรื่องหลัก เมื่อใดก็ตามที่ผู้ประกอบการไม่ให้ความสำคัญเรื่องความสามารถในการทำกำไร เมื่อนั้นเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าธุรกิจกำลังมีปัญหา เพราะความสามารถในการทำกำไรเป็นเครื่องมือวัดความสามารถในการบริหารธุรกิจและการบริหารกระแสเงินสดว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในธุรกิจมากขึ้น
2. ไม่ลงรายละเอียดในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการที่เป็นนักฝัน มักมีแต่ไอเดียบรรเจิด จนบางครั้งไม่รู้รายละเอียดของธุรกิจ เช่น แหล่งที่มาของรายได้และรายจ่าย ข้อมูลตลาดหรือคู่แข่ง เป็นต้น ผู้ประกอบการจึงควรมีรายละเอียดหรือแผนธุรกิจอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นที่มาที่ไปของธุรกิจ ซึ่งเป็นผลดีและยังง่ายต่อการนำเสนอเพื่อตรวจสอบและพิจารณาสินเชื่อจากธนาคารเมื่อต้องการแหล่งเงินทุน
3. ไม่มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน เมื่อใดที่โมเดลธุรกิจไม่ชัด จะตอบคำถามสำคัญของการทำธุรกิจ 4 ข้อไม่ได้ว่า ทำสินค้าอะไร ขายให้ใคร ทำอย่างไร และคุ้มค่าแค่ไหน เพราะลูกค้าจะยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการของเราหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 4 ข้อหลักดังกล่าว ตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จระดับโลกอย่าง Google เป็นองค์กรที่มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนคือ เป็น Search Engine ที่เปิดให้คนทั่วโลกใช้บริการค้นหาข้อมูลแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่วางโมเดลธุรกิจไว้ตรงการขายพื้นที่โฆษณาที่เป็นตัวสร้างรายได้หลักให้กับ Google นั่นเอง
4. ไม่โฟกัสในธุรกิจที่ทำ ทำให้การวางกลยุทธ์ผิดพลาด ส่งผลให้ไม่รู้ทิศทางธุรกิจว่าควรเดินไปในทางใด ยิ่งผู้ประกอบการรายเล็ก หากไม่โฟกัสธุรกิจ และยังอยากทำอะไรเยอะแยะมากมาย โอกาสที่ธุรกิจจะไปไม่รอดจึงมีสูง
5. ไม่พูดความจริง การพยายามปิดบังหรือแสดงให้เห็นในส่วนที่ดีของธุรกิจเพียงอย่างเดียว ทำให้ธนาคารไม่รู้ความจริงของธุรกิจ โอกาสที่จะปล่อยสินเชื่อจึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น หากผู้ประกอบการต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ จึงควรเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อม เช่น บัญชีซื้อ บัญชีขาย สำเนาใบกำกับภาษี ใบสั่งซื้อ ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น เพื่อให้ธนาคารสามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
ลองสำรวจตัวเองและธุรกิจดูว่ามีพฤติกรรม 5 ข้อดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ หากคำตอบคือ “มี” ขอให้รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะนอกจากธุรกิจจะไปต่อได้ยากแล้ว ในมุมของธนาคารก็จะไม่มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการพิจารณา ทำให้โอกาสในการขอสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจเป็นไปได้ยาก
ที่มาโดย : K SME
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *