xs
xsm
sm
md
lg

บสย.ลุยค้ำสินเชื่อ SMEs ลั่นปี 59 ยอดทะลุแสนล้าน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)
บสย.เผยผลงาน 6 เดือนแรก ยอดค้ำสินเชื่อ SMEs กว่า 48,000 ล้าน เพิ่มขึ้น 15% ช่วยผู้ประกอบการได้กว่า 17,000 ราย มั่นใจสิ้นปี 59 เข้าเป้า 100,000 ล้าน ชูยุทธศาสตร์ครึ่งปีหลังเน้นเดินหน้าแผนกระตุ้นและมาตรการเชิงรุก พร้อมเตรียมขายหนี้สูญให้บริษัทบริหารสินทรัพย์

นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานของ บสย.ในรอบ 6 เดือน (1 ม.ค. - 30 มิ.ย. 2559) ทั้ง 11 สาขา เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีการอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อรวมวงเงินกว่า 48,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2558 คิดเป็นวงเงินสินเชื่อที่ผู้ประกอบการได้รับกว่า 65,000 ล้านบาท และสามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 17,000 ราย โดยมีสินเชื่อสงสัยจะสูญ NPG จำนวน 10.6% สูงจากสิ้นปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 8% จากยอดค้ำประกันสินเชื่อคงค้าง 330,000 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 150 ล้านบาทครึ่งปีแรก ทั้งปีคาดว่า NPG ลดลงมาอยู่ในระดับ 9% และเชื่อว่ายอดค้ำสินเชื่อรวมในปีนี้จะถึง 100,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย

สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs และธนาคารพันธมิตร ให้ความสนใจมากที่สุดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 (ปรับปรุงใหม่) สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อจำนวน 10,999 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกัน 38,700 ล้านบาท 2. โครงการ Policy Loan ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) ช่วยผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 2,400 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกัน 6,900 ล้านบาท และ 3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย (Micro Entrepreneurs) สามารถช่วยผู้ประกอบการรายย่อย จำนวน 3,500 ราย วงเงินค้ำประกัน 400 ล้านบาท

นายนิธิศกล่าวด้วยว่า ผลสำเร็จของการดำเนินนโยบายด้านการค้ำประกันสินเชื่อ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาจาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. มาตรการรัฐบาล ในการกระตุ้น ส่งเสริม ช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. เช่น ขยายเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 ปรับปรุงใหม่ วงเงิน 1 แสนล้านบาท เป็น 31 ธันวาคม 2559 โดยขณะนี้ยังมีวงเงินเหลืออีกประมาณ 20,000 ล้านบาท คาดจะหมดภายในเดือนกันยายนนี้, โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย (Micro Entrepreneurs) วงเงิน 13,500 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย และโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการใหม่ และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา

และ 2. บสย.ทำงานเชิงรุกในการขับเคลื่อนโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ บสย.จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับธนาคารพันธมิตร เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ ผู้ประกอบการใหม่ และกลุ่มนวัตกรรมมากขึ้น

นายนิธิศเผยด้วยว่า สำหรับแผนงานครึ่งปีหลังของ บสย.จะมุ่ง 2 แนวทาง คือ 1. จัดทำแผนกระตุ้นการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามแผนวิสาหกิจ ปี 2559 คิดเป็นยอดค้ำประกัน 85,000 ล้านบาท และ 2. จัดทำแผนงานยุทธศาสตร์เชิงรุก รองรับมาตรการใหม่ๆ ขณะนี้มีหลายมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา อาทิ การปรับปรุงข้อกฎหมาย เพื่อเปิดกว้างให้ บสย.สามารถค้ำประกันสินเชื่อในกลุ่ม Non Bank, Leasing ทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยได้ครอบคลุมมากขึ้น

รวมทั้งปรับแผนการติดตามหนี้เมื่อกฎหมาย บสย.แก้ไขเพิ่มให้อำนาจตัดขายหนี้เสียได้ จึงเตรียมแผนนำหนี้เสียขายออกให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมทั้งการว่าจ้างธนาคารช่วยติดตามหนี้เสีย เพราะรู้จักลูกค้าและมีบุคลากรอยู่แล้ว เนื่องจากภาระหนี้เสียซึ่งจ่ายชดเชยแทนลูกหนี้ให้กับธนาคารที่ผ่านมาเป็นเงิน 20,000 ล้านบาท ประมาณ 10,000 ราย จึงต้องติดตามหนี้ดังกล่าวกลับคืนมา

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น