บสย.ผนึก ธ.ก.ส.ลุยโครงการ “ค้ำประกันสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร” หนุน ผปก.ภาคเกษตรไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุน ระบุยอดแค่ 6 เดือนกว่า 1,600 ล้านบาท และวางเป้าค้ำแตะ 5,000 ล้านบาท คลุมกว่า 7,000 ตำบลทั่วประเทศภายในปีนี้ แย้มเตรียมเสนอคลังขยายวงเงิน PGS 5
นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า จากที่ บสย.ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในโครงการ “ค้ำประกันสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร” (เอสเอ็มเออี) วงเงิน 72,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกัน ระยะที่ 5 (ปรับปรุงใหม่) หรือ PGS 5 (Portfolio Guarantee Scheme) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมียอดค้ำประกันไปแล้วร่วม 70,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตรมีจุดประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจการเกษตรของไทยที่จะต้องเร่งพัฒนาหลายๆ ด้านอย่างเป็นระบบตั้งแต่ผลิตไปจนถึงหาตลาด หรือซัปพลายเชน ซึ่งในอดีตกลุ่มเกษตรจะเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ยากเพราะขาดหลักค้ำประกันก็ไม่สามารถขออนุมัติวงเงินสินเชื่อได้
ทั้งนี้ หลังจากมีโครงการดังกล่าวทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดูได้จากต้นปีที่ผ่านมาถึง ณ วันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา บสย.อนุมัติวงเงินค้ำประกันในโครงการฯ นี้ร่วม 1,600 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามีมูลค่าสูงมากเป็นประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับในรอบ 25 ปีที่ก่อตั้ง บสย. และได้ใช้วงเงินค้ำประกันธุรกิจเอสเอ็มอีกลุ่มเกษตรไปราว 2,700 ล้านบาท
“ในอดีตผู้ประกอบการกลุ่มเกษตรจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพราะติดเงื่อนไขต่างๆ แต่เมื่อมีโครงการนี้ โดย บสย.เข้ามาช่วยค้ำทำให้สถาบันการเงินกล้าจะอนุมัติมากยิ่งขึ้น ทำให้แค่ 6 เดือนยอดค้ำ บสย.สูงถึง 1,600 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพราะเป็นยอดค้ำประกันเอสเอ็มอีกลุ่มเกษตรที่สูงสุดในรอบ 25 ปีที่ก่อตั้ง บสย.มา” นายนิธิกล่าว
ด้านนายประเดิมชัย จันทร์เสนะ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. เผยว่า สำหรับโครงการฯ นี้ร่วมมือกันระหว่าง ธ.ก.ส. กับ บสย.เพื่อผ่อนปรนกฎในการอนุมัติสินเชื่อ และช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคการเกษตรให้มีความคล่องตัวในการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงยังช่วยยกระดับเกษตรกรไทยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันจากเดิมที่มุ่งแต่เป็นผู้ผลิต พัฒนาไปสู่กระบวนการแปรรูป รวมถึงหาตลาดได้อย่างครบวงจร โดยโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร ภายใต้ ธ.ก.ส. วางวงเงินสินเชื่ออยู่ที่ 40,000 ล้านบาท โดยขณะนี้อนุมัติไปแล้ว 12,500 ล้านบาท ในจำนวน 2,701 ตำบล และตั้งเป้าว่าจะสามารถเข้าถึงเกษตรกรทั่วประเทศได้ทั้งสิ้น 7,305 ตำบล
ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บสย. กล่าวว่า โครงการ GPS 5 วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ล่าสุด บสย.ได้เสนอแผนไปยังกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาวงเงินในโครงการฯ ออกไปอีกจนถึงปลายปีนี้ (2559)
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องโครงการเอสเอ็มเออีของ ธ.ก.ส. ซึ่งมีวงเงินสินเชื่ออยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ตามรอบบัญชีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2560 โดย บสย.วางเป้าหมายวงเงินค้ำประกันโครงการฯ 12% หรืออยู่ที่ 5,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 5 ล้านบาทต่อราย โดย บสย.เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรไปแล้ว 340 ราย
สำหรับภาพรวมการขอค้ำประกันเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมาสิ้นสุดเดือน พ.ค.พบว่ามี 5 กลุ่มจำนวนสูงสุดที่ขอรับบริการจาก บสย.ดังนี้ 1. ภาคธุรกิจบริการวงเงินรวม 7,200 ล้านบาท 2. ภาคธุรกิจการผลิตและการค้าทั่วไป 4,570 ล้านบาท 3. ภาคการเกษตร 3,940 ล้านบาท 4. อาหารและเครื่องดื่ม 3,630 ล้านบาท และ 5. กลุ่มชิ้นส่วนเหล็กและโลหะ 2,950 ล้านบาท
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *