xs
xsm
sm
md
lg

EXIM BANK แนะใช้โอกาสบาทแข็ง นำเข้าเครื่องจักร เชียร์ย้ายฐานไป CLMV

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
EXIM BANK แนะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ใช้โอกาสช่วงเงินบาทแข็ง นำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยี และวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิต รวมถึงย้ายฐานผลิตสู่ CLMV เพื่อลดต้นทุน ระบุพร้อมสนับสนุนสินเชื่อ และบริการลดเสี่ยงนำเข้า-ส่งออก

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในภาวะที่เงินบาทแข็งค่าปัจจุบัน ผู้ส่งออกไทยควรใช้โอกาสนี้นำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยี และวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และอาจเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายภายในประเทศมากขึ้น รวมทั้งย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในสกุลเงินต่างประเทศลดลง และเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในระยะยาว รวมทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) จากประเทศพัฒนาแล้วในการส่งออก ทำให้สามารถแข่งขันด้านราคาได้

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้ EXIM BANK มีบริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contract) เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถคำนวณต้นทุนและกำไรที่แน่นอนได้ตั้งแต่วันที่ทำสัญญา และวางแผนธุรกิจได้ดี

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ด้วยตนเอง ดังนี้ 1. ใช้เงินตราต่างประเทศหลายสกุลในการทำธุรกรรม ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าส่วนใหญ่มักมีการชำระค่าสินค้าหรือได้รายรับเป็นเงินสกุลหลัก อาทิ ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และเยน ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีความผันผวนมาก ดังนั้น แทนที่จะใช้เงินดังกล่าวในการทำธุรกรรม ก็อาจหันไปใช้เงินสกุลอื่นที่มีความผันผวนน้อยกว่า อีกทั้งหากเป็นการทำธุรกรรมกับประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถตกลงกันให้ชำระเป็นเงินบาทได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกทางหนึ่ง 2. Matching เงินได้กับค่าใช้จ่ายให้เป็นเงินสกุลเดียวกัน โดยการนำรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศจากคู่ค้ารายหนึ่งมา Match กับรายจ่ายที่ต้องชำระให้กับซัพพลายเออร์อีกรายหนึ่งให้เป็นเงินสกุลเดียวกัน กรณีเช่นนี้ผู้ประกอบการต้องบริหารเทอมในการรับและจ่ายสกุลเงินต่างประเทศให้มีระยะเวลาใกล้เคียงกันเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 3. เปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD) ผู้ประกอบการสามารถเปิดบัญชี FCD เพื่อฝากเงินรายรับที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศไว้ก่อนจะนำไปใช้ชำระค่าวัตถุดิบ หรือกรณีของผู้นำเข้าที่ต้องชำระค่าสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ หากเงินบาทแข็งค่าก็อาจซื้อเงินตราต่างประเทศและฝากเข้าบัญชี FCD เพื่อเตรียมไว้ชำระค่าสินค้าในอนาคต

“ผู้ประกอบการควรใช้ช่วงเวลาที่เงินบาทแข็งค่า ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าของธุรกิจตนเองในระยะยาว ขณะเดียวกัน ควรบริหารจัดการความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วยตนเอง หรือทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับ EXIM BANK เพื่อปิดความเสี่ยง” นายพิศิษฐ์กล่าว

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น