xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.เสริมแกร่งเกษตรกร SMEs ส่งงานวิจัยพัฒนายกระดับผลผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายลักษณ์ วัจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.)
ธ.ก.ส.จัดงานจัดประชุมวิชาการ “วิจัยพัฒนา…SMEs เกษตรไทย” ชูผลงานวิชาการผลักดันไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร เผยมีผู้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร แล้วกว่า 9,000 ราย วงเงิน 15,000 ล้านบาท

นายลักษณ์ วัจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย วงเงินสินเชื่อรวม 72,000 ล้านบาท ว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 9,000 ราย วงเงินสินเชื่อกว่า 15,000 ล้านบาท เฉลี่ยยอดขอสินเชื่อรายละ 2-3 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันวงเงินกู้ถึงร้อยละ 50 ของผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อทั้งหมด โดยทางธนาคารมีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มงวด พร้อมมั่นใจว่าสินเชื่อดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการประกอบอาชีพของเกษตรกรและสถาบันการเงินชุมชนในการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือชุมชนในกระบวนการผลิต การรวบรวม การแปรรูป การตลาด และการบริการ ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งยังเปิดรับสินเชื่อถึง 31 มีนาคม 2560 ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อภาคเกษตรของ ธ.ก.ส.อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท คาดว่า 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะเดินหน้าดำเนินนโยบายเพื่อดูแลและสนับสนุนเกษตรกรและเอสเอ็มอีเกษตร พร้อมนำงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ จากองค์กรภาคี ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันการศึกษาและนักวิจัยมาเป็นแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อถ่ายทอดสู่เกษตรกรควบคู่ไปกับการให้สินเชื่อ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทย นอกจากนี้จะส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรรูปแบบใหม่ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ขณะเดียวกันจะปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเดิมเป็นสถาบันการเงินก้าวไปสู่การเป็นที่ปรึกษาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรภายในปี 2568

โดยภายในงานมีการเสวนา “วิจัยพัฒนา…SMEs เกษตรไทย” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์จากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งรับรางวัลวิจัยนวัตกรรมระดับโลกคนแรกของเอเชีย รางวัลเหรียญทองจากผลงานวิจัย เรื่องไซโตไคน์จากเกล็ดเลือดที่กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและป้องกันการเกิดแผลเป็น และเรื่อง อาหารสัตว์ที่ประกอบด้วยถั่งเช่าเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของสัตว์น้ำ สกว. ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม รวมถึงเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.2 คน คือ นายธงชัยพัฒน์ ดีสวัสดิ์ เกษตรกรผู้ผลิตมะนาวลอยฟ้าและแปรรูปครบวงจร (Lemon Me Farm) และนายสุพงษ์ วรวงษ์ ปราชญ์เกษตรกรของแผ่นดินปี 2557 เกษตรกรผู้ผลิตปลานิลแปลงเพศรายแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (บุญโฮมฟาร์ม)

นอกจากนี้ ยังนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่น ประจำปีบัญชี 2558 ของเครือข่ายนักวิจัยประจำฝ่ายกิจการสาขา 9 ฝ่ายของ ธ.ก.ส. ศูนย์วิจัยและพัฒนาและการนำผลงานวิจัยไปพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพของเกษตรกร เช่น ผลิตภัณฑ์จากยางพาราของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ธ.ก.ส.จังหวัดหนองคาย เมล่อนจากลูกค้า ธ.ก.ส.จังหวัดแพร่ และมะม่วงพันธุ์ขาวนิยม จากสวนนายนริทร์ น้อยรักษา จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น