xs
xsm
sm
md
lg

SMEs Boots-Up : เอสเอ็มอีเกษตร-รายย่อย-สตาร์ทอัป แหล่งทุนมาถึงแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บสย.ร่วมกับ ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนโครงการ “สินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร”
ผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย รายเล็ก รายกลาง โอกาสที่จะเพิ่มความแข็งแกร่ง ไม่ต้องมีปัญหาสภาพคล่อง ไม่ใช่สิ่งที่ยาก และเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เมื่อปัจจุบัน มีหน่วยงาน และกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่กำลังทำหน้าที่เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการไทยอย่างเข้มข้น ที่เห็นชัด คือ การรวมกลุ่มเครือข่ายประชารัฐ ฯลฯ ซึ่งทำให้ขณะนี้ภาพของการช่วยเหลือ SMES ไทยกระจายตัวไปยังผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ อย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป
ไพโรจน์ ปิติพันธรันต์ เจ้าของ สวนละไม จ.ระยอง
เริ่มจากการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเกษตร ผ่านโครงการ “สินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร” ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 72,000 ล้านบาท จากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะปีนี้ที่ต้องประสบต่อวิกฤต “ภัยแล้ง” ขณะเดียวกัน ก็ต้องการให้เกษตรกรไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลทางการเกษตร จนกลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้
บรรยากาศภายในสวนละไม จาก “สวน” แบบดั้งเดิม ในรูปแบบปลูกเอง จำหน่ายเอง สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ล่าสุด บสย. ผนึก ธ.ก.ส. ร่วมกันสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ และค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ภาคเกษตร “สวนละไม” อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นโมเดลเกษตรยุคใหม่ จาก “สวน” แบบดั้งเดิม ในรูปแบบปลูกเอง จำหน่ายเอง สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และนำระบบการบริหารจัดการซัปพลายเชนมาใช้ และอนาคตยังเตรียมสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว ด้วยการสร้างโฮมสเตย์ ให้เป็นที่พักของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมสวน และบุฟเฟต์ผลไม้ สามารถพักผ่อนค้างคืนได้ที่สวนด้วยการดึงชุมชน เกษตรกรในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม

โดยครั้งนี้ ธ.ก.ส. และ บสย.เข้ามามีส่วนทำให้ สวนละไม ได้เงินกู้จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เสริมสภาพคล่องในระบบซัปพลายเชน ซึ่งใช้ระบบการรับซื้อผลไม้จากเครือข่ายเกษตรกร เจ้าของสวนในพื้นที่จังหวัดระยองกว่า 50 ราย โดยเน้นคุณภาพในราคาสูงเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเน้นผลิตผลไม้ในคุณภาพดี ก่อเกิดเป็นโมเดลธุรกิจ “บุฟเฟต์ผลไม้” ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างสูง

กรณีของสวนละไม จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการปรับตัวของเกษตรกรไทย สู่ SMEs เกษตรที่ยั่งยืน

นอกจากกลุ่มเกษตรแล้ว กลุ่มผู้ประกอบการอีก 2 กลุ่มที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย และกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัป และกลุ่มผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม ซึ่งจะมีการระดมความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ที่ตอนนี้มี 4 ธนาคารที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารทิสโก้, ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย และธนาคารออมสิน ที่พร้อมปล่อยสินเชื่อในวงเงินสูงสุด 200,000 บาท โดยมี บสย.ให้การค้ำประกันสินเชื่อ โดยผู้กู้ไม่ต้องมีหลักประกันเพื่อไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน
ธุรกิจ “บุฟเฟ่ต์ผลไม้” ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างสูง
เป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ในสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก ที่อาจทำให้ต้องประสบปัญหาสภาพคล่อง เพื่อลดปัญหาการกู้จากแหล่งเงินนอกระบบที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบที่กลายเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องการแก้ไข

กลุ่มสุดท้ายคือ SMEs สตาร์ทอัป/นวัตกรรม ที่เร็วๆ นี้จะมีข่าวดีคือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัป/นวัตกรรม ของ บสย.ที่จะเข้ามาช่วยค้ำประกันผู้ประกอบกลุ่มนี้ ที่มักมีปัญหาเรื่องหลักประกัน เพราะเป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ หรือเป็นกลุ่มที่เน้นไอเดีย แนวคิด เทคโนโลยี ซึ่งต้องการการสนับสนุนเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อให้สามารถขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น และทำให้ได้วงเงินมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ

ทั้งหมดเป็นข่าวดีสำหรับ SMEs ในกลุ่มต่างๆ ที่มีหลากหลาย และความต้องการการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน และเป็นสัญญาณที่ว่าจากนี้ ภาพความช่วยเหลือ SMEs ไทยผ่านโครงการ และมาตรการต่างๆ จะมีความเจาะจง และตอบโจทย์ความต้องการของ SMEs แต่ละกลุ่มมากขึ้น



บทความโดย : บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น