xs
xsm
sm
md
lg

“เครดิตบูโร”...เรื่องที่ผู้ขอสินเชื่อไม่ควรมองข้าม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในปัจจุบันประชาชนมีการขอสินเชื่อประเภทต่างๆ ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับมาเป็นเงินก้อนแล้วทยอยผ่อนใช้เป็นงวดๆ สินเชื่อบัตรเครดิตที่ได้รับมาเป็นวงเงินเอาไปซื้อสินค้าแทนการใช้จ่ายด้วยเงินสด หากชำระทั้งยอดที่เรียกเก็บทั้งหมดไม่ได้ก็ต้องจ่ายในจำนวนขั้นต่ำที่ 5% หรือ 10% แล้วจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ออกบัตรคิดซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 20% หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัย ท้ายสุดก็คือสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งสถาบันการเงินที่ให้บริการผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะทำการวิเคราะห์สินเชื่อโดยพิจารณาจากรายได้และความสามารถในการชำระหนี้(ข้อมูลจากผู้ยื่นขอเป็นส่วนใหญ่) ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา(ข้อมูลจากเครดิตบูโร) และคุณภาพและมูลค่าของหลักประกัน ซึ่งผลที่ได้อาจมีทั้งอนุมัติ และไม่อนุมัติ โดยสถาบันการเงินนั้นๆ ก็จะมีเหตุผลสนับสนุนการวิเคราะห์สินเชื่อของตน

เหตุผลแห่งการปฏิเสธสินเชื่อประการหนึ่งซึ่งมักถูกอ้างถึงคือ “เครดิตบูโร” ดังนั้น เครดิตบูโรในมุมมองของแต่ละคนจะต่างกันออกไป เมื่อได้รับการปฏิเสธสินเชื่อ หรือที่เรียกว่า “กู้ไม่ผ่าน” ก็จะเกิดคำถามว่าเพราะอะไร เกิดจากการพิจารณาปัจจัยใดที่ทำให้ไม่ได้รับอนุมัติ หรือเป็นเพราะเรื่องในอดีตที่เราเคยค้างชำระ ลืมไปจ่าย จ่ายเลยงวด แต่ในปัจจุบันก็ได้จัดการชำระหมดแล้ว ทำไมยังกู้ไม่ผ่าน อย่างนี้เป็นต้น

จึงเป็นที่มาของความเชื่อผิดๆ ที่ว่าเครดิตบูโรเป็นคนจัดทำ บัญชีดำ เป็นคนจัดเก็บข้อมูล Blacklist คนที่ค้างชำระหนี้สิน มีส่วนในการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้คนที่มีประวัติค้างชำระไปขอสินเชื่อที่ไหนๆ ก็ไม่ผ่าน และที่เข้าใจผิดมากที่สุดคือ เครดิตบูโรเป็นตัวที่ขัดขวางไม่ให้คนได้เงินกู้

แท้จริงแล้ว เครดิตบูโร หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นเพียงองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเก็บรักษา รวบรวม และประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการมีสินเชื่อและการชำระหนี้ของลูกค้าสินเชื่อทั้ง Bank และ Non-Bank ที่เป็นสมาชิกนำส่งมา และเปิดเผยข้อมูลเครดิตให้แก่สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเพื่อการวิเคราะห์สินเชื่อและออกบัตรเครดิต โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเป็นหนังสือก่อนเท่านั้น และจะเอาไปใช้ในเรื่องอื่นๆ ไม่ได้โดยเด็ดขาด

การเก็บประวัติการชำระสินเชื่อของเครดิตบูโร จะมีการจัดเก็บเป็นข้อมูลรายบุคคล รายนิติบุคคล มีการระบุชื่อ ที่อยู่ เลขที่บัตรประชาชน และประวัติการชำระสินเชื่อ ไม่มีการบันทึกข้อมูลโทรศัพท์ เงินฝาก หรือข้อมูลรายได้แต่อย่างใด ซึ่งจะมีข้อมูลประวัติการชำระสินเชื่อ ทั้งประวัติดีคือไม่ค้างชำระ และประวัติที่ไม่ดีหรือค้างชำระ(ถ้ามี) โดยมีกำหนดระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลเครดิตย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี หรือ 5 ปี ขึ้นอยู่ประเภทของสินเชื่อ กล่าวคือ ถ้าเป็นสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิตจะเก็บย้อนหลังไม่เกิน 3 ปีหรือ 36 เดือน สำหรับสินเชื่ออื่นๆ จะเก็บไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดซึ่งการเก็บข้อมูลเครดิตย้อนหลังตามระยะเวลาดังกล่าว จะทำให้สถาบันการเงินมีข้อมูลเพียงพอในการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งในระบบสากลก็มีระยะเวลามาตรฐานในการเก็บข้อมูล 3 ปีเช่นกัน

นอกจากนี้ สิทธิของเจ้าของข้อมูลประการหนึ่งที่สำคัญและควรทราบ คือ สิทธิที่จะรับทราบข้อเท็จจริงเมื่อมีการปฏิเสธสินเชื่อหากสถาบันการเงินเข้ามาดูข้อมูลแล้วมีความเห็นว่าไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้เพราะไปพบกับข้อมูลในประวัติว่า มีการค้างชำระอยู่ในปัจจุบัน มีประวัติการค้างชำระในอดีต หรือมีหนี้ที่ปรากฏอยู่ในประวัติมากมายอยู่แล้ว เป็นต้น สถาบันการเงินนั้นจะต้องออกเป็นจดหมายปฏิเสธสินเชื่อเท่านั้น ต้องเป็นหนังสือ ไม่สามารถแจ้งทางวาจาหรือแจ้งทาง SMSว่า “ติดเครดิตบูโร” อย่างที่นิยมทำกันได้ เพราะกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า สถาบันการเงินจะต้องออกเป็นหนังสือ แจ้งเหตุผลให้ชัดเจนถึงสาเหตุที่มีการปฏิเสธสินเชื่อ หากสถาบันการเงินไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับ 300,000 บาท และปรับอีก 10,000 บาท ต่อวัน กระทั่งมีการออกหนังสือให้ลูกค้าทราบ ซึ่งท่านที่ได้รับจดหมายปฏิเสธสินเชื่อดังกล่าวสามารถนำมายื่นขอตรวจสอบเครดิตบูโรได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพื่อตรวจดูว่าข้อมูลเครดิตของท่านถูกต้องหรือไม่และมีจุดไหนที่เป็นสาเหตุให้ถูกปฏิเสธสินเชื่อ เพราะท่านมีสิทธิที่จะรับทราบว่าเพราะอะไรจึงเป็นเหตุที่ไม่ได้รับอนุมัติจะได้นำไปแก้ไขปรับปรุงต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 0-2643-1250 อีเมล consumer@ncb.co.th หรือเว็บไซต์เครดิตบูโร www.ncb.co.th และ Facebook www.facebook.com/ilovebureau

ข้อมูลโดย : บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น