xs
xsm
sm
md
lg

ม.พะเยา เปิดพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ หวังบ่มเพาะช่วย SMEs โกอินเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดพื้นที่ทำโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ ประสบความสำเร็จเกินคาด สามารถบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ชาข้าวก่ำ (ข้าวลืมผัว) พร้อมกับนำนวัตกรรมมาใช้จนได้ข้าวครบวงจร แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์พล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดเผยถึงผลสำเร็จของโครงการที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ว่าทางมหาวิทยาลัยพะเยาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยได้เปิดให้คำปรึกษาบ่มเพาะธุรกิจและเทคโนโลยีแก่วิสาหกิจชุมชน และ SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการในจังหวัดพะเยา และใกล้เคียง ล่าสุดได้ให้คำปรึกษาบ่มเพาะแก่คุณอุไรวรรณ ภู่วัตร ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มชาข้าวก่ำ (ข้าวลืมผัว) ให้ยกระดับไปสู่การเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดข้าวสร้างสุข (IRice) ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

โดยเริ่มเข้าไปช่วยให้คำปรึกษากฎหมายธุรกิจ การจดนิติบุคคลเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด การวิจัยตลาด การทำแผนธุรกิจ วางแผนการผลิตแบบ Zero waste การใช้พลังงานทดแทน การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ พัฒนานวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้มีการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในการประดิษฐ์เครื่องอบข้าวพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก และพัฒนาไปสู่การวิจัยห้องอบข้าวแบบปั๊มความร้อน รวมไปถึงสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน R&D การเข้าอบรมสัมมนา และการไป Business matching ในประเทศและต่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาการผลิตข้าวกล้องลืมผัวอบกรอบพร้อมทาน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้ขยายกลุ่มปลูกข้าววิสาหกิจชุมชน จากเดิมพื้นที่ 30 ไร่ เป็น500 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 7 ราย ขยายเป็น 49 ราย ในปี 2558 ปัจจุบันมีผลผลิต150 ตัน แปรรูป 50% ขายเป็นข้าว 50% โดยมีผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ข้าวลืมผัว ข้าวก่ำพื้นเมือง ข้าวแดงดอย ข้าวหอมมะลิ 105 และยังได้มีการแปรรูปเป็นข้าวกรอบเพิ่มมูลค่าได้ถึง 500% โดยผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องกรอบ 4 รสชาติ ได้แก่ รสสาหร่าย รสชีส รสต้มยำ รสบาบีคิว มีกำลังการผลิตเดือนละ 300,000 ซอง โดยได้ส่งสินค้าไปทดลองตลาดต่างประเทศบ้างแล้ว และยังได้มีการพัฒนาเป็นเครื่องดื่มข้าวกล้องข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัวผสมใบเตยชนิดชงดื่ม เครื่องดื่มต้นอ่อนข้าวหอมมะลิ 105 ผสมใบเตยชนิดชงดื่ม เป็นต้น

สำหรับ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ หลายรายประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น ปี 2558 IRice ได้รับรางวัลชนะเลิศ STI Thailand Awards 2015 (Science Technology and Innovation Thailand Awards) ประเภทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พื้นที่ภาคเหนือ และรางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศจากนายกรัฐมนตรี จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และได้รับรางวัลชนะเลิศพื้นที่ภาคเหนือประเภทนักธุรกิจนวัตกรรมจากการประกวดรางวัล NSP Innovation Awards 2015 และรางวัลชนะเลิศระดับประเทศจากการประกวดรางวัล MOST Innovation Awards 2015 จัดโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และล่าสุดยังได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนหรือสังคม ในงานสุดยอดนวัตกรรม Thailand Synergy เพื่อSMEs ไทย หรือ 7 Innovation Awards 2016

ดร.สันธิวัฒน์กล่าวในตอนท้ายว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยประสานงานเชื่อมโยงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยกับกิจกรรมวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน มีห้องปฏิบัติการ มีเครื่องมือวิจัยคุณภาพสูง และมีการบริหารจัดการให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปขยายผลในเชิงพาณิชย์หรือเป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน ผู้สนใจขอรับคำปรึกษาจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0-5446-6666 ต่อ 1283 หรือ 0-9313-73612 Email :upscipark@outlook.com

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น