xs
xsm
sm
md
lg

SMEs Boost-Up:ติดปีก SMEs ไทย ด้วย “ความรู้ทางการเงิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ว่ากันว่าคนไทยเก่งด้านการผลิตมากที่สุด ตามด้วยการขาย และการตลาด และสิ่งสุดท้ายคือ ความรู้ด้านการเงิน ที่มักถูกละเลยจากผู้ประกอบการ และเจ้าของธุรกิจ ทำให้เป็นอุปสรรคในการขยายกิจการ โดยเฉพาะเมื่อต้องการขอสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งมักจะเกิดกับผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า ที่มักไม่เคยทำบัญชี และไม่มีการเดินบัญชีธนาคาร Bank Statement

“คนไทย” กับความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) วันนี้จึงยังเป็นโจทย์สำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ จากสถิติที่พบว่าคนไทยยังมีความรู้ ความเข้าใจ ด้านการเงินอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ที่การมี “ความรู้” เหล่านี้ จะเป็นเหมือนการ “ติดอาวุธ” ให้กับธุรกิจมีประสิทธิภาพและความแหลมคมมากยิ่งขึ้น

ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานด้านบัญชี การเดินบัญชี Bank Statement สินเชื่อ ดอกเบี้ย ภาษีและกฎหมาย การขอสินเชื่อ และการค้ำประกันสินเชื่อ ฯลฯ ตลอดจนความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคล, การตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กฎหมายธุรกิจ ฯลฯ สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้น

Financial Literacy จึงเป็นความสามารถในการเข้าใจความรู้พื้นฐานในเรื่องการเงิน ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ความเสี่ยงทางการเงิน ซึ่งทำให้เราตระหนักถึงความเสี่ยงและโอกาสทางการเงิน การลงทุน รู้ว่าเมื่อต้องการความช่วยเหลือทางการเงินจะต้องปรึกษาผู้ใด รวมทั้งสามารถที่จะตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผล และสามารถวางแผนการทางด้านการเงินและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่งคั่งทางด้านการเงิน

สิ่งนี้เอง ถือเป็นบทบาทหน้าที่หลักของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการให้ความรู้ ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญหนีไม่พ้นกลุ่ม “สถาบันการเงิน” โดยเฉพาะ “สถาบันการเงินของรัฐ” ที่รวมถึง บสย. ที่มีบทบาทหลักในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะ SMEs ขนาดย่อย และขนาดเล็ก ผ่านการให้ความรู้ทางด้านการเงิน

ข่าวดีคือ ในครึ่งปีหลังนี้ บสย. เตรียมจัด “โครงการอบรมผู้ประกอบการ SMEs” ที่เรียกว่า “TCG Financial Literacy” โดยแบ่งเนื้อหาหลักสูตรเป็น 3 หลักสูตร ตามการแบ่งกลุ่ม SMEs เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.Micro กลุ่มพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย Otop วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา หลักสูตรจะเน้นเรื่อง การทำบัญชีรายรับ รายจ่าย อย่างง่าย

2.กลุ่ม Small คือผู้ประกอบการนิติบุคคล หรือผู้ประกอบการบุคคลธรรมดา ที่มีความต้องการจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อ ขณะที่ 3.กลุ่ม Medium จะเป็นผู้ประกอบการนิติบุคคลที่มีผลการดำเนินงานที่ดี ธุรกิจมีการเติบโตสูง และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต ต้องการขยายเข้าสู่แหล่งทุนที่นอกเหนือจากการขอสินเชื่อจากธนาคาร กลุ่มนี้ก็จะเน้นเรื่องเรื่องการตรวจสุขภาพ SMEs ด้วยงบการเงินเป็นหลัก โดยคลาสแรกจะเริ่มในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ที่จังหวัดพิจิตร โดยเป็นหลักสูตรความรู้พื้นฐานทางการเงินที่ SMEs ต้องรู้

เป็นอีกหนึ่งบทบาทของ บสย. ในปีนี้ ที่มุ่งมั่นส่งเสริม SMEs ไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขัน การเพิ่มพูนความรู้ทางด้านการเงิน เพื่อ “ติดปีก” ให้กับ SMEs ไทย สามารถบินได้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น

บทความโดย : บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น