xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนระยองเบนเข็มป้อนผลไม้ในประเทศ คัดเกรดพรีเมียมส่งขาย “ท็อปส์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เกษตรกร สมาชิกสหกรณ์การเกษตรทุ่งควายกิน จำกัด ต.ทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง
จ.ระยอง นับเป็นอีกแหล่งเพาะปลูกผลไม้คุณภาพของประเทศ โดยเฉพาะ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และสละ ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2557 เกิดวิกฤต พ่อค้าคนกลางหยุดรับซื้อผลผลิต เกิดปัญหาผลไม้ค้างสต๊อกเน่าเสียไม่มีช่องทางระบาย รวมถึงระทบราคาตกต่ำ

เพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าว เกษตรกรในนาม “สหกรณ์การเกษตรทุ่งควายกิน” รุกจัดกระบวนทัพใหม่ ด้วยการสร้างเครือข่ายเข้มแข็ง 14 จังหวัด กระจายผลไม้ให้คนไทยทดแทนการพึ่งพาส่งออกมากจนเกินไป พร้อมขยายช่องทางขายเอ็กซ์คลูกซีฟ คัดเกรดผลไม้เกรดพรีเมียมส่ง “ท็อปส์” เปิดโอกาสเกษตรกรขายเองหากได้ราคาดีกว่า
นางสาวปิยะนันท์ ประกอบกิจ (กลาง) ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรทุ่งควายกิน จำกัด ต.ทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง
นางสาวปิยะนันท์ ประกอบกิจ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรทุ่งควายกิน จำกัด ต.ทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิก 212 ราย พื้นที่เพาะปลูกรวมประมาณ 2,000 ไร่ ผลผลิตสำคัญ ได้แก่ มังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง และสละ โดยผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี ตั้งแต่ก่อตั้งสหกรณ์ฯ ในปี 2552-2557 ที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ ได้คัดเกรดผลไม้สำหรับส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุดมีสัดส่วนการส่งออกมากถึง 90% และขายในประเทศเพียง 10% ของผลผลิตทั้งหมดที่สหกรณ์ฯ รับซื้อ

จนกระทั่งในปี 2557 มีเหตุการณ์พ่อค้าคนกลางรวมตัวกันหยุดรับซื้อผลไม้เพื่อกดราคาให้ต่ำลงทำให้เกษตรกรและสหกรณ์ฯ ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะผลไม้ขาดช่องทางขาย ยิ่งเก็บไว้นานก็จะเน่าเสีย จึงต้องหาทางออกด้วยการสร้างเครือข่ายเพื่อกระจายผลผลิตไปยังจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันมีเครือข่ายใน 14 จังหวัด เช่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เชียงใหม่ แพร่ อุบลราชธานี นครราชสีมา เป็นต้น เพื่อเป็นศูนย์กลางกระจายผลไม้ในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนั้น สหกรณ์ฯ ยังสร้างช่องทางจำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ด้วยการคัดผลไม้เกรดพรีเมียมส่งให้ซูเปอร์มาร์เกตในประเทศ ได้แก่ ท็อปส์

“ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมาสหกรณ์ฯ หันมาส่งผลไม้จำหน่ายในประเทศเป็นหลัก สูงถึง 70% และส่งออกเพียง 30% เท่านั้น เรามองว่าตลาดในประเทศยังต้องการผลไม้ไทยที่มีคุณภาพ มีกำลังซื้อหลากหลายระดับ แต่ผลผลิตที่วางขายไม่เพียงพอ คนไทยไม่ค่อยได้กินผลไม้ดีๆ ได้กินแต่ผลไม้เกรดรอง ในขณะที่ผลไม้ดีๆ ส่งออกหมด เมื่อสหกรณ์ฯ หันมาสร้างเครือข่ายกระจายผลไม้ใน 14 จังหวัด ได้รับการตอบรับดีมาก หลายครั้งที่ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ และขายเอ็กซ์คลูซีฟให้ท็อปส์ ที่เข้ามาช่วยรับซื้อผลไม้ในปี 57-58 ซึ่งเป็นปีที่ผลไม้ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ช่วยให้มีช่องทางตลาดที่มากขึ้น ทว่า ทางสหกรณ์ฯ ก็ไม่ได้บังคับให้สมาชิกและเครือข่ายต้องส่งผลไม้กับสหกรณ์ฯ แต่เพียงรายเดียว เปิดโอกาสให้สมาชิกขายผลไม้ให้พ่อค้าคนกลางได้ หากได้ราคาที่ดีกว่า โดยเฉพาะทุเรียน ที่ตลาดจีนมีความต้องการสูง”

ปิยะนันท์กล่าวอีกว่า สหกรณ์ฯ คัดเกรดผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุด ส่งให้ท็อปส์ตั้งแต่ปี 2557 และเพิ่มปริมาณมากขึ้นในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคาขายตามท้องตลาดไม่สูงนัก แต่สหกรณ์ฯ ขายให้ท็อปส์ ได้ในราคาที่พึงพอใจ โดยส่งมังคุดคัดเกรด ปริมาณ 200 ตัน ทุเรียน 200 ตัน เงาะโรงเรียน 150 ตัน และลองกองอีกกว่า 60 ตัน และในปี 2559 ก็พยายามส่งให้ได้มากที่สุด แม้จะประสบปัญหาภัยแล้ง เพราะมองว่าเป็นช่องทางขายที่มีความแน่นอน
นางสาวเมทินี พิศุทธิ์สินธพ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสด และ บริหารจัดซื้อ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด
นางสาวเมทินี พิศุทธิ์สินธพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสด และบริหารจัดซื้อ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหารร้านเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ กล่าวว่า ท็อปส์รับซื้อผลไม้จากชุมชนในภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง มังคุด เงาะโรงเรียน ลองกอง และสละ ในปี 2558 ปริมาณรับซื้อทั้งหมด 705 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท และในปี 2559 ตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 35% คิดเป็น 950 ตัน หรือมูลค่าประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อวางจำหน่ายใน 182 สาขาทั่วประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องการเป็นอีกหนึ่งช่องทางจำหน่ายผลไม้ให้แก่เกษตรกรไทย ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากชุมชน และไม่หยุดนิ่งมองหาเกษตรกรหรือชุมชนใหม่ๆ ที่สามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพมาวางจำหน่ายในท็อปส์

“ในปี 2559 บริษัทฯ เดินหน้าสนับสนุนชุมชน โอทอป และเอสเอ็มอี ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และกระตุ้นการขายสินค้าชุมชนในแต่ละสาขา เช่น การจัดโซนสินค้าชุมชนของเรา การจัดทำสื่อภายในสาขาและสื่อภายนอก เช่น หนังสือพิมพ์ บิลบอร์ด และวางแผนจัดงานจำหน่ายสินค้าจากชุมชน โอทอป และเอสเอ็มอี ภายใต้โครงการ “ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ” จำนวน 25 ครั้งตลอดทั้งปี โดยครั้งแรกจัดที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุบลราชธานี และล่าสุด คือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา บางนา ในวันที่ 19-25 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวกรุงอย่างดียิ่ง” นางสาวเมทินีกล่าว

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น