xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.ร่วมสภาหอฯ เปิดตัว 17 SMEs ผักผลไม้ ลุย AEC ด้วย ThaiGAP งาน THAIFEX

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารของสภาหอการค้า และสวทช. ถ่ายภาพร่วมกัน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดตัวโครงการความร่วมมือ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” นำเสนอผลงานของผู้ประกอบการจำนวน 17 รายที่เข้าร่วมโครงการที่เตรียมพร้อมสู่มาตรฐาน GlobalGAP

น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. เปิดเผยว่า จากการที่ภาครัฐมีนโยบายในการสนับสนุน ส่งเสริม และจัดการสินค้าเกษตรสู่สากล ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ เป็นเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหาร ประกอบกับปัจจุบันการแข่งขันในสินค้าเกษตรประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาอย่างมาก และกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีการยกระดับสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อหนีการแข่งขันในกลุ่มประเทศอาเซียน และช่วยให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่สูงขึ้น
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช.
ทั้งนี้ ทาง สวทช.จึงได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการความร่วมมือ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” เพื่อผลักดันมาตรฐาน ThaiGAP ให้เทียบชั้นมาตรฐานสากล เป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของผักผลไม้ไทยเพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ AEC โดยผู้ประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐาน ThaiGAP จะได้รับเครื่องหมายโลโก้ ThaiGAP และมีระบบติดตามพื้นที่การผลิตของเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบการขอการรับรองเป็นปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยี GIS และแผนที่ดิจิตอลแบบ Online ในการทำระบบการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับแบบ QR Code

“เพื่อใช้ในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าผักและผลไม้ที่จำหน่าย และใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหากลับอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ในอนาคตผู้ประกอบการสามารถพัฒนาระบบประกันภัยความรับผิดชอบจากผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการที่ถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจาก ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่กล่าวถึงความรับผิดชอบดังกล่าว แต่แนวโน้มในอนาคตจะมีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น” น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ กล่าว
ผลไม้ที่เข้าร่วมโครงการ ThaiGAP
ด้านคุณฐิติศักดิ์ เติมวารี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล ออร์แกนิคส์ ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า จุดสำคัญที่ได้จากโครงการ คือ ข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในโครงการ การบริหารจัดการระบบของการผลิตสินค้าให้เป็นรูปเป็นร่างและได้มาตรฐานยิ่งขึ้น เช่น การใช้สารเคมี การจัดเก็บ การบันทึกการปฏิบัติ เพื่อให้สามารถทวนสอบผลผลิตย้อนกลับได้ว่าขณะที่ปลูกผักและผลไม้ ผู้ปลูกได้ทำอะไรบ้าง

โดยชนิดพืชที่ขอการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ได้แก่ มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ ซึ่งภายหลังดำเนินการจนได้รับรองมาตรฐาน ThaiGAP พบว่า คุณภาพของมะละกอมีคุณภาพขึ้น ทำให้สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ง่ายขึ้น โดยมียอดการส่งออกเพิ่มมากขึ้นทุกปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5

ส่วนระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยหรือ ThaiGAP (Thai Good Agricultural Practice) คือการปฏิบัติที่ถูกต้องในการจัดการผลิตทางการเกษตรตามข้อกำหนด ซึ่งเป็นมาตรฐานเอกชนในการจัดการคุณภาพ การผลิตผักและผลไม้ที่เน้นความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภค และเป็นมาตรฐานระบบการผลิตที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติการและสิ่งแวดล้อมในการผลิต

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น