“เอสเอ็มอีแบงก์” สางปัญหาหนี้เน่าค้างท่อ จัดกิจกรรมเจรจาประนอมหนี้กับผู้ประกอบการขับรถแท็กซี่ที่เป็นหนี้เสีย ระบุมอบเงื่อนไขสุดพิเศษ ตัดลดยอดหนี้ค้างให้ 50% และหากประวัติดีเปิดช่องให้สินเชื่อใหม่ เผยยอดหนี้เสีย 704 ราย จำนวนเงิน 302 ล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว 291 ราย จำนวน 106 ล้านบาท และรอการเจรจา 423 ราย จำนวนเงิน 196 ล้านบาท พร้อมจัดฝึกอบรมสร้างอาชีพเสริม ปูทางสร้างชีวิตใหม่
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “วันครอบครัว SMEs” ซึ่งเป็นกิจกรรมช่วยเหลือและเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร ซึ่งเป็นลูกค้าเก่าแก่ร่วมสิบปีที่เป็นหนี้เสียว่า จากนโยบายในอดีตเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วของเอสเอ็มอีแบงก์ ที่ปล่อยสินเชื่อให้เช่าซื้อรถยนต์เพื่อไปประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เนื่องจากนโยบายดังกล่าวไม่ได้คัดกรองคุณภาพลูกค้าที่สมเหตุสมผล ทำให้ผู้กู้ไปแล้วมีปัญหาขาดความสามารถในการผ่อนชำระ ประกอบกับเมื่อมีปัญหาแล้วไม่กล้าเข้ามาเจรจาหนี้ จนในที่สุดเกิดเป็นปัญหาหนี้เสีย (NPL) จำนวน 704 ราย จำนวนเงินกว่า 302 ล้านบาท
ทั้งนี้ แนวทางของเอสเอ็มอีแบงก์ในปัจจุบันต้องการจะให้โอกาสช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ จึงจัดกิจกรรม “วันครอบครัว SMEs” ช่วยเหลือและเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเอสเอ็มอีแบงก์จะลดยอดเงินต้นที่ค้างชำระให้ 50% ส่วนดอกเบี้ยคงอัตราเดิม ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องมีวินัยในการชำระต่อเนื่อง 2 ปี และหากทำประวัติได้ดี ในอนาคตก็จะให้โอกาสได้รับสินเชื่อใหม่ด้วย อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้ได้ ยอดเงินที่ค้างชำระจะกลับเท่ากับยอดเดิม และต้องนำไปสู่การดำเนินคดีทางกฎหมาย
นายมงคลเผยด้วยว่า ผู้ประกอบการแท็กซี่ที่เป็นหนี้เสียจากนโยบายในอดีตมีจำนวน 704 ราย จำนวนเงิน 302 ล้านบาท โดยได้แก้ไขเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว 291 ราย จำนวนเงิน 106 ล้านบาท และที่เหลือรอการเจรจา 423 ราย จำนวนเงิน 196 ล้านบาท ซึ่งการจัดงานวันนี้ได้เชิญผู้ประกอบการแท็กซี่กว่า 100 รายที่ได้เจรจาหาข้อยุติเรียบร้อยแล้ว นัดมาลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
เขาเผยด้วยว่า ในอดีตยังมีผู้ประกอบการแท็กซี่ที่ตกเป็นหนี้เสียประมาณ 100 รายที่ฟ้องร้องเอสเอ็มอีแบงก์เนื่องจากไม่พอใจในประเด็นว่าปล่อยสินเชื่อไม่ตรงเงื่อนไข แต่ปัจจุบันจากการดำเนินการของผู้บริหารชุดปัจจุบัน ผู้ที่ฟ้องกว่าครึ่งได้ยอมถอนฟ้องหันกลับมาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ส่วนที่เหลือพยายามเชิญชวนให้เข้ามาประนอมหนี้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย
“ในความเป็นจริงแล้วผู้ประกอบการขับรถแท็กซี่ไม่อยากจะค้างจ่ายจนเป็นหนี้เสีย แต่เขาไม่มีความสามารถจะชำระได้ ในขณะเดียวกัน ทางเอสเอ็มอีแบงก์ก็ไม่ต้องการดำเนินคดีต่อลูกหนี้ เพราะสถาบันการเงินแห่งนี้ต้องการเป็น Development Bank ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย การจัดงานครั้งนี้จึงมาหาข้อยุติให้เกิดความพอใจและประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” กก.ผจก.เอสเอ็มอีแบงก์กล่าว
นอกจากนั้น ในส่วนผู้บริหารชุดเก่าที่ออกนโยบายปล่อยสินเชื่อแท็กซี่จนก่อให้เกิดเป็นหนี้เสียจำนวนมาก ยังไม่ได้มีแผนดำเนินคดีทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทางเอสเอ็มอีแบงก์ได้ใช้ความผิดพลาดในอดีตเป็นบทเรียน และนำมาปรับปรุงในการวางแผนฟื้นฟูสถาบัน ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว ทำให้ผลประกอบการของเอสเอ็มอีแบงก์กลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกิจกรรมใน “วันครอบครัว SMEs” นอกเหนือจากการเจรจาประนอมหนี้แล้ว ยังได้จัดกิจกรรมสร้างอาชีพเสริมให้ผู้ประกอบการ และสมาชิกครอบครัว ด้วยการจัดสอนอบรมอาชีพต่างๆ ฟรี เช่น ทำไอศกรีม เปิดร้านกาแฟ ตัดผม นวดแผนไทย อบรมภาษาต่างประเทศ เป็นต้น
นายมงคลเผยด้วยว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีแบงก์มีหนี้เสียประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้รายย่อย ซึ่งมีหนี้เสียรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ประมาณ 21,000 ราย รวมวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นหนี้ที่เกิดจากลูกค้าระดับกลางขึ้นไป ซึ่งแม้จำนวนจะน้อยกว่าแต่มูลค่าหนี้เสียสูงกว่า ซึ่งแนวทางแก้ไขจะต่างกัน ในส่วนรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำมาหากิน ไม่มีเจตนาจะเป็นหนี้เสีย แต่พลาดเพราะขาดความสามารถ จะเน้นช่วยเหลือไกล่เกลี่ย และฟื้นฟู นอกจากกลุ่มผู้ขับแท็กซี่แล้ว ต่อไปจะขยายความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มอาชีพอื่นๆ เช่น กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและกลางที่มีหลักประกัน แล้วอยู่ระหว่างรอขายทอดตลาด ก็จะเปิดโอกาสให้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย นอกจากนั้น กระจายจัดเทศกาลเจรจาประนอมหนี้ไปทั่วประเทศ ในส่วนรายขนาดกลางค่อนข้างไปทางใหญ่ ซึ่งมีเจตนาไม่ชำระหนี้อย่างชัดเจน การแก้ไขจะเน้นดำเนินคดีตามกฎหมาย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *