“เอสเอ็มอีแบงก์” เผยแผนการดำเนินงานของธนาคาร ปี 2559 ชี้ที่ประชุมมติตั้งสายงานพัฒนาผู้ประกอบการและร่วมลงทุน ขับเคลื่อนช่วย SMEs ด้านผลประกอบการเดือนมกราคม 2559 กำไร 190 ล้านบาท ส่วน NPLs เพิ่มขึ้น 143 ล้านบาท จากผลกระทบราคายางพาราในภาคใต้
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ร่วมแถลงข่าว “พันธกิจใหม่ขับเคลื่อน SMEs และผลประกอบการเดือนมกราคม 2559
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน SMEs โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้แก่เอสเอ็มอีแบงก์มีจุดยืนของการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งนอกเหนือจากการสนับสนุนเงินทุนแล้ว ต้องเข้าไปดูแลผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ หน้าที่ของธนาคารยังต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่องต่างๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย การฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการ เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 มีมติเห็นชอบให้จัดกระบวนการรองรับการก้าวขึ้นสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา SMEs อย่างแท้จริง โดยมีปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มสายงานพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย 4 ฝ่ายงาน คือ ฝ่ายพัฒนา Start up ฝ่ายพัฒนา SMEs ที่ดำเนินการอยู่แล้ว (Regular) และฝ่ายร่วมลงทุนอีกสองฝ่าย
โดยที่ประชุมยังได้มีการอนุมัติจัดสรรงบประมาณไม่เกิน 30% ของกำไรจากการดำเนินงาน เพื่อนำมาใช้ในงานพัฒนาผู้ประกอบการโดยตรง (ประมาณ 350 ล้านบาทต่อปี) และสนับสนุนให้ SMEs มีการจัดทำระบบบัญชีเดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น โดยธนาคารจับมือกับ สำนักบัญชีคุณภาพ กระทรวงพาณิชย์ ที่มีเครือข่ายนักบัญชีคุณภาพอยู่ทั่วประเทศให้ร่วมเป็นพี่เลี้ยง SMEs ด้วย ทั้งนี้จำนวนเงินในการพัฒนาเป็นต่างหากจากการร่วมลงทุน ซึ่ง ครม.มีมติให้ธนาคารดำเนินการร่วมทุนในวงเงิน 2,000 ล้านบาทอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติในโครงการร่วมลงทุน ขณะนี้ได้ดำเนินการรุดหน้าไปมาก ธนาคารได้อนุมัติในหลักการแล้วจำนวน 3 ราย วงเงินรวม 20 ล้านบาท ซึ่งได้ลงทุนไปแล้ว 1 ราย คือ บริษัทฟรุตต้า เนเชอรัล จำกัด เป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และอยู่ระหว่างลงทุนอีก 2 ราย คือ บริษัท ไทยริชฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด ธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมไทยแช่แข็ง และบริษัท บ้านผลไม้ (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลไม้อบแห้ง และยังมีกิจการที่สนใจเข้าร่วมลงทุนอีก 6 กิจการ วงเงินรวม 110 ล้านบาท รวมถึงธนาคารยังเพิ่ม Trust Manager ที่มาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาให้ผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีมากถึง 6 ราย
สำหรับผลประกอบการเดือนมกราคม 2559 ธนาคารยังคงมีกำไรสุทธิต่อเนื่อง 190 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากปล่อยสินเชื่อใหม่วงเงิน 5,743 ล้านบาท (1,877ราย) โดยสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อ Soft Loan ประมาณ 3,600 ล้านบาท 1,168 ราย และสินเชื่อ Policy Loan ประมาณ 1,900 ล้านบาท 561 ราย
ในส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เดือนมกราคม 2559 NPLs เพิ่มขึ้น 143 ล้านบาท จาก 23,452 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2558 เป็น 23,595 ล้านบาท ในเดือนมกราคม 2559 แต่สัดส่วน NPL ลดลงจาก 27.23% เป็น 26.16%
ทั้งนี้ NPL ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรายย่อยที่มีมาแต่เดิมทางภาคใต้ ซึ่งทำธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ที่โยงกับพืชผลการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำ อย่างไรก็ดี ลูกหนี้เหล่านี้ยังประกอบกิจการอยู่ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีนโยบายจะขาย NPLs ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้แล้วอีกจำนวนหนึ่งในปี 2559 ด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *