ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ แถลงผลสำรวจเอสเอ็มอีประจำ Q1/59 จำนวนเกินครึ่ง บอกว่า ทิศทางแย่ลงถึงแย่ลงมาก จากปัจจัยหลัก ศก. ใน ปท. ยังซบเซา ผู้บริโภคลดการจับจ่าย อีกทั้งถูกคู่แข่งจากจีน และ CLMV เข้ามาแย่งชิงลูกค้า สถานการณ์ทำได้แค่ประคองตัว และปรับตัวลดรายจ่ายมากกว่าเพิ่มรายได้ ขณะที่ Q2 ยังมีหวังจะดีขึ้น แต่ผวาเสี่ยงภัยแล้ง พร้อมปรับประมาณการเติบโต GDP SME ปี 2559 จากเดิมเติบโต 2.8% เหลือ 2.6%
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ จำนวน 437 ราย เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 และ 2 โดยพบว่า จากการสอบถามถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 เอสเอ็มอี ถึง 41.6% ระบุว่า แย่ลง อีก 10.3% ระบุว่า แย่ลงมาก ส่วน 36.4% ระบุว่า ใกล้เคียงกัน ในขณะที่เพียง 0.7% ระบุว่า ดีขึ้นมาก และ 11.0% ระบุว่า ดีขึ้น ตัวเลขที่บอกว่าแย่ลง กับแย่ลงมากรวมเป็นถึง 51.9% บ่งบอกชัดเจนว่า เอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ยอดขายและรายได้ลงลดมาก
เมื่อสอบถามถึงรายได้ที่ได้รับในไตรมาสที่ 1 เทียบกับที่คาดหวังไว้ 9.2% ระบุว่า รายได้ที่ได้รับมากกว่าที่คาดหวังไว้ 23.5% ใกล้เคียงกับที่คาดหวังไว้ 57.8% ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ และอีก 9.5% ไม่แน่ใจ โดยกลุ่มที่ระบุว่า รายได้ที่ได้รับมากกว่าที่คาดหวังไว้ โดยเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้ประมาณ 18.4% สำหรับกลุ่มที่รายได้ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ โดยเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าที่คาดไว้ประมาณ 28.9% ซึ่งตัวเลขนี้ สะท้อนว่า เอสเอ็มอีไทยจะที่มีความสามารถปรับตัวและเอาชนะภาวะตลาดซบเซา ได้มีเพียง 9.2% เท่านั้น โดยกลุ่มนี้ 66.7% มักจะหาตลาดใหม่ก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งอาเซียนไปจนถึงตลาดโลก รวมถึงมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ 14.3%
สาเหตุที่ทำให้รายได้ลดลงกว่าที่คาดไว้ 70.4% ระบุว่า เกิดจากสภาพตลาดภายในประเทศที่มีกำลังซื้อลดลง กำลังซื้อของผู้บริโภคหดหาย ส่วน 15.1% การแข่งขันที่รุนแรงกว่าที่คาดไว้ มีคู่แข่งรายใหม่ ทั้งสินค้าจากจีน และกลุ่ม CLMV มาแย่งลูกค้าไปจากเอสเอ็มอีไทย นอกจากนั้น 5.0% บอกว่า สภาพตลาดในต่างประเทศที่ไม่เติบโตเท่าที่ควร 4.5% ต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น และอีก 5.0% เป็นสาเหตุอื่น ๆ เช่น ขาดบุคลากร ขาดเงินทุน ขาดช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นต้น
ดร.เกียรติอนันต์ เผยต่อว่า ต่อการสอบถามถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 พบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ภาวะเศรษฐกิจของไทย กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างชัดเจน 2) ความต้องการของตลาดที่ลดลง เนื่องจากสินค้าของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องซื้อทันทีก็ได้ 3) การแข่งขันที่สูงขึ้น จากคู่แข่งจากจีน และกลุ่ม CLMV 4) ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบัน เอสเอ็มอีไทยขาดแคลนแรงงานฝีมือ ในขณะที่แรงงานด้อยฝีมือค่าจ้างก็สูง และ 5) ภาวะเศรษฐกิจโลก ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง
นอกจากปัจจัยทั้ง 5 ข้อข้างต้นแล้ว “ภัยแล้ง” ยังเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่อาจส่งผลต่อการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีในไตรมาสที่ 2 ได้ เนื่องจากภัยแล้งทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อของประเทศ นอกจากนี้แล้ว ภัยแล้งยังทำให้กำลังซื้อในชนบทและกำลังซื้อของภาคเกษตรลดลงอีกด้วย
“แม้ผลสำรวจจะบอกว่า เอสเอ็มอีคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 จะดีขึ้น แต่การที่เอสเอ็มอีให้ความสำคัญกับการลดรายจ่ายมากกว่าการเพิ่มรายได้ สะท้อนให้เห็นว่า โดยสรุปเอสเอ็มอีไทยในไตรมาสแรกปี 2559 คือ ยังพอจะประคับประคองตัวอยู่ได้ และเอสเอ็มอีเองก็อยู่ในภาวะเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นตามที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่ากังกล ก็คือ แม้ว่าวันนี้เอสเอ็มอีจะยังทำธุรกิจได้อยู่ แต่ก็เป็นการประคองตัวเองให้อยู่รอดได้เท่านั้น ไม่ได้มีแผนการพัฒนาธุรกิจในระยะยาวที่ชัดเจน หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป แม้เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น กำลังซื้อจะเริ่มกลับมา ความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทยก็จะไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เผยด้วยว่า จากตัวเลขดังกล่าว จึงมีการปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2559 จากเดิมที่คาดว่า ปี 2559 GDP ประเทศจะโตประมาณ 3.0% ลดลงมาจากเหลือ 2.75% ในขณะที่ GDP SME ปี 2559 จากเดิมคาดจะเติบโต 2.8% ลดลงมาจากเหลือ 2.6% โดยปัจจัยหลักสำคัญ คือ สภาพเศรษฐกิจในประเทศไม่ฟื้นตัวตามที่หวัง ผู้บริโภคลดการจับจ่าย และภัยแล้งที่คาดว่าสาหัส
ทั้งนี้ ในส่วนมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ออกมานั้น ค่อนข้างจะครอบคลุมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อยากให้กระจายลงไปสู่รายย่อยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งส่วนหนึ่งต้องเห็นใจรัฐบาล เนื่องจากเอสเอ็มอีไทย จำนวน 3 ใน4 ไม่ยอมเข้ามาอยู่ในระบบ ทำให้การช่วยเหลือจากภาครัฐไม่สามารถเข้าถึงได้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *