เมื่อเร็วๆ นี้ เชลล์ สนับสนุน 3 ทีมเยาวชนไทยจากเวทีการแข่งขัน “เชลล์อีโค-มาราธอน” ไปร่วมการแข่งขันออกแบบรถ เครื่องยนต์ และการเลือกใช้เชื้อเพลิง ในประเภท Urban Concept Car ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 3-6 มีนาคม 2559 และจะคัดเลือก 3 ทีมตัวแทนเอเชียไปแข่งขันในระดับโลก ที่ อังกฤษ เดือนกรกฎาคม 2559
ทั้งนี้ การแข่งขันเชลล์อีโคมาราธอน เอเชีย 2016 แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภท Prototype รถต้นแบบแห่งอนาคต มุ่งเน้นการการออกแบบรถ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางด้านเทคนิค เพื่อให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด กับประเภท Urban Concept มุ่งเน้นการออกแบบรถประหยัดเชื้อเพลิงโดยคำนึงการใช้งานจริงบนท้องถนนซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับรถยนต์ในปัจจุบัน
การนำเสนอไอเดียที่ว่า ยานยนต์ในอนาคตควรจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และควรออกแบบเครื่องยนต์อย่างไรเพื่อให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ผ่านเวทีการแข่งขัน “เชลล์อีโค-มาราธอน” กลายเป็นแนวทางสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อแสวงหาแนวทางร่วมกันสร้างนวัตกรรมประหยัดพลังงาน โดยการการใช้เชื้อเพลิงเพื่อให้ยานยนต์สามารถแล่นไปได้ไกลที่สุด ซึ่งการใช้เชื้อเพลิงทุกชนิดที่จะนำมาคำนวณให้เทียบเท่ากับการใช้น้ำมัน 1 ลิตร
ในปีนี้ ได้ตัวแทนทีมเยาวชนไทยจาก 3 โรงเรียน ประกอบด้วย 1)ทีม R-Tech Eco Racing จากวิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์ 2)ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และ 3)ทีม Leaf Green จากวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง จะเข้าร่วมแข่งขันในประเภทรถยนต์ที่คล้ายกับรถยนต์ปัจจุบัน หรือ Urban Concept ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 3-6 มีนาคม 2559
อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ความพิเศษของการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน ในปีนี้ก็คือ ทีมที่ชนะเลิศจำนวน 10 ทีมจากการแข่งขันเชลล์อีโคมาราธอน เอเชีย 2016 ประเภท Urban Concept ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 3-6 มีนาคม 2559 จะได้โอกาสไปเข้าร่วมการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ (Shell Eco-marathon World Championship) ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2559 และจะต้องแข่งกับ 10 ทีมผู้ชนะจากทวีปยุโรป และอเมริกา เพื่อเฟ้นหาแชมป์โลกในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“การแข่งขัน“เชลล์อีโค-มาราธอน” หลายครั้งที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมเยาวชนไทย ว่าสามารถแข่งขันกับทีมจากนานาชาติได้อย่างแน่นอน ซึ่งทั้ง 3 โรงเรียนที่ได้เป็นตัวแทนมีการนำเสนอผลงานกันอย่างเต็มที่ ทั้งด้านการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี การออกแบบอย่างพิถีพิถัน และการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม รวมถึงยังต่อยอดจากประสบการณ์ที่ได้นำมาพัฒนากันเพิ่มขึ้นอีกด้วย”
อัษฎา กล่าวว่าในแต่ละทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องออกแบบสมองกล หรือ ECU ซึ่งทำหน้าที่ในการรับข้อมูลจากการเซ็นเซอร์ต่างๆ มาใช้เป็นการควบคุมการสั่งจ่ายน้ำมัน และเป็นจุดสำคัญที่สุดของเครื่องยนต์ที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ประเภทสันดาปภายใน หรือในยานยนต์ที่ใช้ระบบไฟฟ้า
“เชลล์อีโค-มาราธอน กระตุ้นให้เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะ จนกระทั่งสามารถออกแบบ ECU ได้ด้วยตนเอง จึงเป็นโอกาสหนึ่งที่นักเรียนนักศึกษาได้ใกล้ชิดกับวิศวกรของเชลล์ระดับโลกเข้ามาให้คำแนะนำดูแล ซึ่งทุกทีมต้องอธิบายให้ได้ว่ากล่อง ECU ทำหน้าที่อย่างไร เยาวชนไทยได้มีโอกาสลองคิด ออกแบบด้วยตัวเอง จึงเป็นก้าวสำคัญในการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ทำให้เยาวชนได้พัฒนาตนเอง และในอนาคตหากเรามีการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก เช่น แบตเตอรี่ไฟฟ้า หรือรถไฮบริด ผมเชื่อว่าเด็กไทยสามารถดึงประสิทธิภาพที่มีอยู่ออกมาใช้จนทำกล่อง ECU ได้ด้วยตัวเองแน่นอน”
ทีมไทยครองแชมป์มา 5 ปีในภูมิภาคนี้ จึงเป็นที่จับตาของประเทศอื่นๆ ซึ่งในการชนะแต่ละครั้งทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการค้นคว้านวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น ก็อยากขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยช่วยเป็นกำลังใจแก่เยาวชนไทยที่เป็นตัวแทนในการแข่งขันครั้งนี้ ติด 3 อันดับแรก เพื่อที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแสดงทักษะความสามารถในเวที เชลล์ อีโค-มาราธอน เวิลด์คัพ แชมเปี้ยนชิพ ที่ประเทศอังกฤษ
จะดีแค่ไหนถ้าเด็กไทยถูกส่งเสริมให้เป็นผู้สร้าง แทนที่จะเป็นเพียงผู้ซ่อม
“จะดีแค่ไหนถ้าเด็กไทยได้รับการส่งเสริม ให้เป็นผู้สร้าง แทนที่จะเป็นเพียงผู้ซ่อม หรือ ผู้ให้บริการ หลังจากจบหลักสูตรการศึกษาด้านเทคนิคช่างยนต์ การแข่งขัน เชลล์อีโค-มาราธอน ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่เรียนมาทางสายเทคนิคช่างยนต์ สามารถเปลี่ยนบทบาทของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ” อนุชิต กลับประสิทธิ อาจารย์ที่ปรึกษาทีมเยาวชนจากวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กรุงเทพฯ หนึ่งใน 3 สถาบันที่เข้าร่วมการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย 2016 ประเภท Urban Concept แสดงมุมมองอย่างมีความหวัง
“ปีที่แล้ว ทีมเราคว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากการแข่งขันรถประเภทต้นแบบ Prototype ด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้า สถิติวิ่งได้ไกลถึง 368.7 กิโลเมตร/กิโลวัตต์ฮาว์ ในปีนี้เราจึงเลือกเข้าแข่งขันรถประเภท Urban Concept Car ซึ่งเป็นรถที่ออกแบบระบบการทำงานที่ซับซ้อนและยากกว่า อย่างไรก็ตาม ทีมเรามั่นใจว่าจะนำชัยชนะกลับมาให้สถาบันและประเทศชาติของเราได้แน่นอน” สุทธิเกียรติ ร่มโพธิ์ ตัวแทนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์ กล่าว
“วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง เคยลงแข่งในประเภท Urban Concept แล้วได้รางวัลที่สอง ด้วยระยะทาง 76.9 กิโลเมตรต่อลิตร ปีนี้เราจะพยายามนำรางวัลที่หนึ่งกลับมาให้ได้ มาถึงจุดนี้ พวกเราตั้งเป้าหมายไว้ที่การแข่งขันในระดับโลกซึ่งจะมีขึ้นที่อังกฤษ เมื่อตั้งเป้าไว้แล้ว เราจะต้องชนะในแข่งขันในระดับเอเชียให้ได้ เพื่อที่จะได้ไปอังกฤษ เพราะถ้าไม่มีกิจกรรมนี้ เราคงไม่มีโอกาสได้ไปอังกฤษด้วยตนเอง” ธนะสิทธิ์ คงประสิทธิ์ ตัวแทนจากวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กล่าว