มาแล้ว! โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2 วงเงิน 13,500 ล้านบาท ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยจริงๆ เพราะครั้งนี้มีการกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างจากเฟสแรก คือ “จำกัดทรัพย์สินถาวร” (ไม่รวมที่ดิน) ของผู้ที่จะเข้าโครงการนี้ ไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสให้ SMEs รายจิ๋วสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น นั่นเท่ากับขีดเส้นไว้ว่า รายใหญ่ที่มีทรัพย์สินถาวรเกิน 5 ล้านบาทจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ทำให้โครงการค้ำประกันเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย เฟส 2 นี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของภาครัฐที่ต้องการให้กิจการขนาดเล็กเหล่านี้ สามารถเข้าถึงเงินทุนได้อย่างแท้จริง
นอกจากจำกัดเรื่องทรัพย์สินถาวรแล้ว จุดเด่นในครั้งนี้คือ เพิ่มวงเงินในการค้ำประกันสินเชื่อให้รายย่อยจาก 5,000 ล้านบาทในเฟสแรก เพิ่มเป็น 13,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการได้ 135,000 ราย เพิ่มจาก 49,950 รายในเฟสแรก ซึ่งคาดว่าครั้งนี้จะมีธนาคารที่เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปล่อยสินเชื่อได้เร็วๆ นี้ หลังการเซ็นเอ็มโอยูระหว่าง ธนาคารและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เสร็จสิ้น
สำหรับจุดเด่นของโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2 รัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการในปีแรก โดยรับค้ำประกันต่อรายสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาการค้ำประกันสูงสุดถึง 10 ปี มีความรับผิดชอบการจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการสูงถึง 30% - 50% มีระยะเวลาการขอรับการค้ำประกันสินเชื่อ ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
ในแง่คำจำกัดความของ "รายย่อย" ก็คือกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป เช่น พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีลักษณะการค้าขายเป็นเงินสด ไม่มีออร์เดอร์ หรือคำสั่งซื้อล่วงหน้า การค้าขายเป็นวันต่อวัน ซึ่งจำเป็นต้องมีเงินสดหมุนเวียนในกิจการ เพื่อทำให้เกิดสภาพคล่อง ยิ่งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ที่อาจขายของได้น้อยลง ลูกค้าก็ระวังการจับจ่ายมากขึ้น อาจต้องเจอสภาพเงินตึง จนต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบเพราะง่ายและเร็วกว่า ซึ่งทำให้เกิดเป็นปัญหาสังคมตามมาอีกมากมาย ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพราะส่วนใหญ่จะมีปัญหาในการเดินบัญชีธนาคาร (statement) จากลักษณะการค้าขายเป็นเงินสด วันต่อวัน จึงมักไม่ได้เอาเงินเข้าบัญชี เวลาไปขอกู้ธนาคาร จึงทำให้ได้รับการอนุมัติยาก เพราะไม่มีเอกสาร หลักฐานอะไรจะไปแสดงได้ การกู้นอกระบบจึงกลายเป็นทางออกของคนกลุ่มนี้
โครงการนี้ จึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดปัญหา "เงินกู้นอกระบบ" ให้มากที่สุด ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีสำหรับ SMEs ในช่วงต้นปี และตลอดปี 2559 นี้ ภาครัฐยังเตรียมมาตรการต่างๆ ไว้อีกมากมายเพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอี มีเงินทุนหมุนเวียน และขยายกิจการผ่านมา จนเติบโตและเข้มแข็งขึ้น สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ สามารถโทรขอคำปรึกษาได้ที่ call center บสย. 02-890-9999
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *