xs
xsm
sm
md
lg

“มข.” สร้างโรงงานการ์เมนต์ ต้นแบบลดต้นทุน พัฒนาช่องทางขายรับยุคไอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการแข่งขันสูง ดังนั้นการหาช่องทางการตลาดในรูปแบบใหม่ หรือกรรมวิธีการผลิตสินค้าแบบใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคของโลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน เป็นโจทย์ที่ท้าทายให้กลุ่มนักศึกษาสาขาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาใช้กับการบริหารจัดการ “หจก.ขอนแก่น อินเตอร์การ์เมนท์” เป็นกิจการ ประกอบธุรกิจผลิตเสื้อแบบครบวงจร ที่บริหารกิจการโดยทีมนักศึกษา มข. โดยเน้นการออกแบบตามความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีการพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง

น.ส.ปวิตรา นาควิเชียร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มข. กล่าวว่า บริษัทฯ เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2542 โดยรับออกแบบและผลิตเสื้อตามสั่งทุกประเภท โดยมีลูกค้าทั้งในส่วนของภาคราชการ ภาคเอกชน หรือองค์กรต่างๆ ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่หารือร่วมกับเจ้าของกิจการและการจัดเก็บข้อมูลร่วมกับพนักงานทุกฝ่าย พบว่าประเด็นที่โรงงานแห่งนี้ต้องการคือ การลดต้นทุน จากของเสีย ที่เกิดจากการสกรีนเลอะ/สกรีนผิด ตะเข็บด้ายมีปัญหา ส่งงานไม่ตรงเวลา สีผ้าไม่ตรงตามแบบที่สั่ง เสื้อผิดขนาด เย็บผิดสี สกรีนไม่ตรงกับแบบที่สั่ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้โรงงานมีต้นทุนสูงขึ้นกว่า 25% และการเพิ่มช่องทางทางการตลาดให้กับโรงงานในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

“จากการเข้าไปเก็บสถิติของเสียที่เกิดขึ้นในการผลิตมาจากขั้นตอนการเย็บและการสกรีนมากที่สุด โดยส่วนใหญ่จะเป็นปัญหางานเปื้อนจากสีสกรีนยังไม่แห้งหรือสกรีนสีไม่เต็ม ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยการออกกฎหรือมาตรการในการควบคุมการผลิต จัดทำคู่มือการทำงาน อบรมข้อควรระวังก่อนทำงานจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น รวมทั้งซักซ้อมก่อนการทำงานทุกครั้ง ซึ่งสามารถลดปริมาณของเสียจากการผลิตได้มากกว่า 50% นอกจากนี้ ยังได้ปรับแก้เรื่องการเข้าถึงลูกค้าใน Social Network โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการออกแบบเว็บไซต์ ให้มีการนำรูปแบบเสื้อผ้าที่ทันสมัย และเพิ่มเติมรายละเอียดข้อมูลของสินค้าให้ครบถ้วนมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและให้ทันต่อไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคปัจจุบัน”

การตลาดออนไลน์ปัจจุบันมีอิทธิพลต่อผู้ประกอบการอย่างมาก ซึ่งโรงงานแห่งนี้เป็นหนึ่งในธุรกิจชุมชนต้นแบบที่นักศึกษาได้มาร่วมกันดำเนินการหาช่องทางการตลาดให้มากขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการลูกค้าและการติดตามข้อมูลของโรงงานผ่านในระบบแฟนเพจ โดยมีการแต่งตั้งพนักงานของโรงงานที่รับผิดชอบงานด้านไอที ออกแบบแฟนเพจใหม่และเป็นผู้ดูแลแฟนเพจทำหน้าที่ลงข้อมูลความเคลื่อนไหวของโรงงาน มีการถ่ายภาพประชาสัมพันธ์สินค้าเพื่อใช้เป็นภาพตัวอย่างของสินค้าที่กิจการได้ผลิตลงในแฟนเพจอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การร่วมลงมือปฏิบัติจริงกับผู้ประกอบการเป็นการเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัยที่เข้าถึงหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ที่จะเป็นการนำประสบการณ์จากห้องเรียนมาผสมผสานกับการลงมือปฏิบัติจริงได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น