xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” ชูบทบาทพัฒนา ผปก. ทุ่ม 50 ล.ปั้น Start Up

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมงคล  ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)
หัวเรือ “เอสเอ็มอีแบงก์” ชูนโยบายมุ่งบทบาทสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ ระบุจัดงบ 50 ล้านบาทสนับสนุนนักเรียน นักศึกษา หรือคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียปั้นเป็นเอสเอ็มอีหน้าใหม่ กลุ่ม Start Up เผย ครม.ขยายเวลา Policy Loan ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2559 ขณะที่ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 35,000 ล้านบาท กำไรทะลุ 1,600 ล้านบาท

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า จากที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง กก.ผจก.เอสเอ็มอีแบงก์ นโยบายหลักต้องการให้ธนาคารมีบทบาทการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. สนับสนุนสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีรายย่อย วงเงินกู้ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย 2. ช่วยเหลือด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจ และ 3. เสริมการลงทุนให้แก่เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพชัดเจน ผ่านการร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีแบงก์

ทั้งนี้ ในการพัฒนาผู้ประกอบการนั้น ได้จัดสรรงบประมาณ 50 ล้านบาทเพื่อมาใช้ในการสนับสนุนผู้ประกอบการ ตั้งแต่กลุ่มนักเรียนนักศึกษา หรือคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ โดยทางเอสเอ็มอีแบงก์จะมีทีมงานเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งเป็นที่ปรึกษาโครงการเพื่อจะพัฒนาให้เกิดเป็นธุรกิจได้จริง เกิดเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่ม Start Up ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียและอยากเริ่มต้นธุรกิจสามารถเดินเข้ามาติดต่อเอสเอ็มอีแบงก์ได้เลยนับแต่วันนี้

นอกจากนั้น จากผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2559 ได้มีมติให้ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ของเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งจากเดิมได้สิ้นสุดรับคำขอกู้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2558 ขยายไปถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2559 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ต่อไป

สำหรับสินเชื่อ Policy Loan นั้น เป็นสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินอื่นให้มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐเพิ่มมากขึ้น โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 4% คงที่เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นปีที่ 4 และ 5 อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ MLR ต่อปี นอกจากนี้ ถ้าผู้ประกอบการ SMEs กู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ยังสามารถใช้ บสย.ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ บสย.ในช่วงปีที่ 1 อีกด้วย จากที่ปกติจะเสียค่าธรรมเนียมในอัตรา 1.75% ของวงเงินค้ำประกัน และปีที่ 2 และ 3 ผู้ประกอบการจ่ายเพียง 1% เท่านั้น

ทั้งนี้ ยอดวงเงินสินเชื่อ Policy Loan 15,000 ล้านบาท ณ 31 ธ.ค. 2558 เอสเอ็มอีแบงก์ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 4,689.75 ล้านบาท จำนวน 1,344 ราย โดยมียอดเบิกจ่ายเงินกู้ 3,078.08 ล้านบาท และมีวงเงินโครงการคงเหลืออยู่จำนวน 10,310.25 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นหลัก นอกนั้นก็ปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ที่ต้องการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และ SMEs ที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มสามารถเติบโตไปสู่ขนาดกลาง รวมถึงผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรม ตามลำดับ โดยเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเฉลี่ยวงเงินขอกู้ต่อรายประมาณ 3.3 ล้านบาท กระจายการปล่อยกู้ไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยประเภทธุรกิจที่มีการขอกู้สูงสุดคือธุรกิจด้านค้าส่งและค้าปลีก และภาคการผลิต

นายมงคลเผยด้วยว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีแบงก์มีผลกำไรประมาณ 1,300 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายในปีนี้ (2559) ตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ จำนวน 35,000 ล้านบาท จำนวนปล่อยกู้ 1,800 ราย และมีกำไรประมาณ 1,600 ล้านบาท

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น