สำหรับผู้ที่ทำงานเป็นลูกจ้าง หลายคนมักถามฝ่ายบุคคลถึงสวัสดิการที่จะได้รับ เช่น สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล บางบริษัทอาจจะมีหรือไม่มีสวัสดิการก็ได้ แต่ที่แน่ๆ คือทุกคนที่เป็นลูกจ้างต้องมีการจ่ายเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมทุกเดือน แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าเงินที่จ่ายไปนั้นหายไปไหน จะมีโอกาสได้กลับมาหรือไม่
ในกรณีที่นายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องมีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบทุกเดือน โดยลูกจ้างและนายจ้างจะถูกหักเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 และรัฐบาลร่วมจ่ายสมทบในอัตราร้อยละ 2.75 โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท หรือกล่าวคือลูกจ้างจะถูกหักเงินสมทบสูงสุดไม่เกินเดือนละ 750 บาท หรือ 9,000 บาทต่อปี ทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมในฐานะผู้ประกันตน โดยความเป็นผู้ประกันตนจะสิ้นสุดเมื่อ (1) ตาย (2) สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมที่ลูกจ้างจะได้รับจะมี 7 สิทธิ ได้แก่ (1) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (2) ทุพพลภาพ (3) ตาย (4) คลอดบุตร (5) สงเคราะห์บุตร (6) ว่างงาน (7) ชราภาพ ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่าเงินที่ได้จ่ายสมทบทุกเดือนนั้น หากไม่ใช้สิทธิจะเสียเงินฟรีหรือไม่ หรือเงินที่ส่งไปจะไปอยู่ที่ไหน ต้องบอกว่าเงินที่ส่งไปจะมีอยู่ 2 ส่วน ด้วยกันคือ
1. เงินสมทบที่ถูกหักเพื่อการคุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร และว่างงาน แม้ผู้ประกันตนจะไม่ใช้สิทธิใดๆ เลย เงินจำนวนดังกล่าวจะถูกรวมเป็นกองทุนกลาง เพื่อใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหรือจ่ายเป็นเงินประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ให้แก่เพื่อนๆ สมาชิกที่เป็นผู้ประกันตนเมื่อต้องประสบความเดือดร้อนหรือประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร หรือว่างงาน ตามหลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข
2. เงินสมทบกรณีชราภาพ (รวมกับกรณีสงเคราะห์บุตร) ผู้ประกันตนจะได้รับคืนเป็นประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเมื่อเกษียณหลังจากอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยได้รับเงินก้อนที่ เรียกว่า “เงินบำเหน็จชราภาพ” ในกรณีที่จ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพไม่ครบ 180 เดือน หรือได้รับเป็นรายเดือน ซึ่งเรียกว่า “เงินบำนาญชราภาพ” ในกรณีที่จ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพครบ 180 เดือนขึ้นไป ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541
ดังนั้น การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม นอกจากจะช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกด้วยการการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขแล้ว ยังกลับคืนมาให้กับผู้ประกันตนเมื่อชราภาพ ทำให้มีเงินสำหรับเลี้ยงชีพต่อไปในยามเกษียณ นอกจากนี้ เงินที่จ่ายสมทบ ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินปีละ 9,000 บาท จึงนับได้ว่าเป็นกองทุนที่ช่วยให้มีหลักประกันส่วนหนึ่ง แต่ถ้าหากเราต้องการหลักประกันยามเกษียณอายุเพิ่มเติม ก็สามารถออมและลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะกับตนเองเพิ่มเติมได้
ข้อมูลโดย K-expert