บทความโดย : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
เดี๋ยวนี้หลายคนตอนหันมาทำการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ การค้าขายผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) หรือแม้แต่ อินสตาแกรม (Instagram)
หลายคนสามารถสร้างรายได้เดือนๆ หนึ่งหลายหมื่นหรือหลายแสนบาทกันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่คนไทยหันมาใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับตัวเองหรือองค์กรมากขึ้น
แต่มีหลายคนยังไม่รู้ว่า "เมื่อใดก็ตามที่คุณมีรายได้เกิดขึ้น คุณต้องมีหน้าที่ในการเสียภาษีให้กับรัฐ" ดังนั้น การขายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหนๆ ก็ตาม ก็ถือว่าคุณมีรายได้ เช่น คุณเปิดแผงร้านขายเสื้อในตลาดนัด, เปิดร้านขายของภายในห้าง หรือแม้แต่การเปิดเว็บไซต์ขายสินค้า หรือช่องทางอะไรก็ตามที่คุณสร้างรายได้ คุณมีหน้าที่ต้องเสียภาษี
ดังนั้น การทำการค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้วต้องเสียภาษี จึงไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพียงแต่ว่าหลายๆ คนยังไม่รู้และเข้าใจกัน และบางส่วนก็อาจจะเข้าใจผิดว่า ทางกรมสรรพากรเองจะมีการออกมาตรการ การเก็บภาษีเฉพาะคนทำการค้าออนไลน์ขึ้นมา ผมขอบอกเลยครับว่า ทางกรมสรรพากรเค้าไม่มีมาตรการอะไรใหม่ขึ้นมาสำหรับการค้าทางออนไลน์เลยครับ
ผู้ที่ค้าขายต้องมีหน้าที่เสียภาษีอะไรบ้าง
ผู้ที่ค้าขายไม่ว่าจะช่องทางไหน หรือผ่านช่องทางออนไลน์ต้องเสียภาษีภายใต้ประมวลกฎหมายรัษฎากรเหมือนธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น
1.) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้กับทุกธุรกิจรวมถึงการค้าขายผ่านทางออนไลน์ด้วย ดังนั้น เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อเข้ามาเจ้าของเว็บไซต์ต้องเสียภาษีเงินได้ และเมื่อสินค้าส่งออกไปให้กับลูกค้า ลูกค้าที่สั่งซื้อก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย
การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากคุณมีรายรับจากการขายสินค้า หรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี คุณมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ
ดังนั้น เมื่อคุณขายสินค้าหรือบริการ คุณเองต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบด้วยว่า มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อยู่ด้วย คุณจะรวมเข้าไปหรือแยกออกมาต่างหาก ก็แล้วแต่วิธีการของแต่ละคน และการซื้อขายสินค้าแต่ละครั้งจะมีการออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อด้วย แต่หากรายรับจากการขายสินค้าหรือบริการต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี คุณก็ไม่ต้องไปยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทำให้คุณไม่ต้องไปคิด VAT เพิ่มกับลูกค้านะครับ
หากทำการค้าขายกับคนที่อยู่ต่างประเทศต้องเสียภาษี VAT ไหม?
หากคุณค้าขายและทำการจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าที่ต่างประเทศผ่านทางไปรษณีย์ จะได้สิทธิในการไม่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่ถ้าผู้ประกอบการไม่มีหลักฐานในการส่งสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร จะไม่ได้สิทธิในการไม่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แทน
ดังนั้น หากผู้ประกอบการปฏิบัติตามขั้นตอนของการจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศโดยผ่านพิธีการศุลกากรอย่างถูกวิธี สามารถลดต้นทุนจากการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (ลองปรึกษาทางไปรษณีย์ฯ ใกล้บ้านคุณ)
ยังไงก็ต้องเสียภาษีเงินได้
ดังนั้น หากท่านทำการค้าไม่ว่าจะช่องทางไหน คุณเองก็ต้องมีหน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้ แต่อาจจะมีความแตกต่างกันระหว่างการเสียภาษีบุคคลธรรมดา (ชาวบ้านอย่างเราๆ) และภาษีนิติบุคคล (ในรูปแบบของบริษัท) ดังนั้น เมื่อถึงเวลาสิ้นปี คุณก็ต้องนำเอารายรับและรายจ่ายที่เกิดขึ้น นำไปแสดงและยื่นภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากรว่า ท่านมีเงินได้อะไรบ้าง
และจะเห็นว่า เดี๋ยวนี้ทางกรมสรรพากรเริ่มให้ความสำคัญกับบุคคลธรรมดาที่ค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ตแล้ว จะเห็นได้จากแบบฟอร์มยื่นเสียภาษีในปี เริ่มมีการให้ระบุชื่อเว็บไซต์ของคุณเข้าไปด้วย ตอนยื่นแบบแล้วด้วยเช่นกัน
ต้องบอกก่อนเลยว่า ผมไม่ได้ถูกทางกรมสรรพากรบังคับให้มาเขียนบทความนี้ออกมานะครับ เพียงแต่ผมเห็นว่า ตอนนี้หลายๆ คนยังเข้าใจผิดในเรื่องนี้อยู่ และในฐานะของคนไทย เราควรเข้าใจและทำเรื่องนี้ให้ถูกต้อง เพราะหากคุณทำการค้าและไม่เข้าใจเรื่องภาษี และหากมีการตรวจสอบเกิดขึ้น มันอาจจะเป็นผลเสียต่อคุณอย่างมากได้เช่นกัน
ดังนั้น หากไม่ทราบจริงๆ ขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่บัญชี หรือเจ้าที่สรรพากร (ที่รู้เรื่องนี้ โทรสอบถาม 1161 หรือ www.rd.go.th) คุณจะได้ทำได้อย่างถูกต้องครับ
บทความนี้ เป็นเพียงบทความที่ทำให้คุณได้รู้เพิ่มเติมมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการค้าออนไลน์และการเสียภาษีนะครับ
ใครที่มีเพื่อนๆ ขายของผ่านอินเตอร์เน็ตหรือเว็บไซต์ ฝากรบกวนส่งข้อความนี้ไปให้เค้าดูด้วยนะครับ เพราะเค้าควรรู้เรื่องนี้ไว้ครับ
คำศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับภาษี
ที่มา : อีคอมเมิร์ซ แมกาซีน ฉบับ เดือนมีนาคม 2010
ภาษีเงินได้บุคลลธรรมดา
ภาษีที่ต้องจัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนดและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ ต้องนำแสดงรายการตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป
สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณี กฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบฯ เสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่ต้องชำระ และเงินได้บางกรณีกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษีขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีอากรประเภทหนึ่งที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร จัดเก็บจากเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหลักการจัดเก็บที่สำคัญๆ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจ หรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคลใดๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ
ใบกำกับภาษี
เอกสารหลักฐานสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจัดทำและออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการในแต่ละครั้ง
1.กรณีการขายสินค้า ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีพร้อมทั้งส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อในทันทีที่มีการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ
2.กรณีการให้บริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีพร้อมทั้งส่งมอบให้แก่ผู้รับบริการในทันทีที่ได้รับชำระราคาค่าบริการ
ข้อมูลโดย : นิตยสาร SMEs PLUS
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *