อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยความคืบหน้าการพัฒนา SMEs ไทยกับรัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่น ปี 2559 เพิ่มความร่วมมือ 2 จังหวัดเอฮิมะ และจังหวัดฟูกุโอะ เน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ เคมีภัณฑ์ กระดาษ และอาหาร คาดเกิดการเจรจาธุรกิจไม่ต่ำกว่า 100 คู่ ในจังหวัดไอจิ ชี้นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยปี 59 มุ่งการพัฒนาคลัสเตอร์เป้าหมาย ส่งเสริมงานวิจัย และยกระดับ SMEs/OTOP
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนา SMEs ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปลายปี 2557 ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 ปี มีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันหลากหลาย อาทิ การออกบูทแสดงสินค้า การเจรจาธุรกิจ (Business Matching) การสัมมนาต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจ รวมถึงช่วย SMEs ได้มีโอกาสติดต่อธุรกิจกับบริษัทข้ามชาติ จึงได้มีการจัดสัมมนา และเจรจาธุรกิจ สำหรับSMEs ขึ้น ใช้ชื่อว่า “Aichi-Thailand Monozukuri Business Seminar & Matching” ขึ้น ซึ่งเป็นการจัดร่วมกัน 3 ฝ่าย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รัฐบาลจังหวัดไอจิ และองค์กรส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) โดยมีผู้ประกอบการจากจังหวัดไอจิ ร่วมกิจกรรม 23 บริษัท และบริษัทของไทยกว่า 100 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องมือทางการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น การจัดงานดังกล่าวคาดว่าจะมีการเจรจาธุรกิจได้มากกว่า 100 คู่
ดร.สมชายกล่าวต่อว่า ในปีนี้ (2559) ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังได้กำหนดให้จัดการเจรจาธุรกิจอีก 2 จังหวัด คือ จังหวัดเอฮิมะ และจังหวัดฟูกุโอะ ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดมีอุตสาหกรรมหลักที่แตกต่างกัน โดยจังหวัดเอฮิเมะมีอุตสาหกรรมหลัก คือ การต่อเรือ เคมีภัณฑ์ และกระดาษ ครั้งนี้ มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 9 ราย เช่น ผู้ผลิตเครื่องผลิตไอน้ำ ผู้ผลิตกระดาษ ถังบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น ส่วนจังหวัดฟูกุโอะมีความโดดเด่นที่อุตสาหกรรมอาหาร ครั้งนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 8 ราย ผู้ผลิตชาเขียว ข้าวเกรียบงาดำ อาหารสำเร็จรูปจากสาหร่ายทะเลเป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดจะมีการเจรจาธุรกิจในวันที่ 18-19 มกราคม 2558
สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ดร.สมชายกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่า ไทยจะให้ความสำคัญการเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ ในระดับภูมิภาค ยกระดับประเทศให้หลุดพ้น Middle Income Trap ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เตรียมพร้อมสู่ความเป็นเมือง เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ พัฒนาคนตามช่วงวัย เตรียมพร้อมสู่การพัฒนาเทคโนโลยี แบบก้าวกระโดด พัฒนาสู่สังคมสีเขียว และปรับปรุงระบบบริหารงานภาครัฐ
ส่วนนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 1. มุ่งต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ สร้างมูลค่าและตอบสนองกระแสโลก โดยการพัฒนา Cluster เป้าหมาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Technology ส่งเสริมกิจกรรม งานวิจัย 2. เสริมสร้าง SMEs/OTOP ให้เข้าถึง ระบบการตลาดดิจิตอล เทคโนโลยี ยกระดับมาตรฐานการผลิต สร้างผู้ประกอบการใหม่ในภูมิภาค ศูนย์บ่มเพาะ SMEs/OTOP หาแหล่งเงินทุน 3. ปรับปรุงฐานการลงทุน การผลิต และการส่งออก อาทิ พัฒนาสถานประกอบการ พัฒนาทักษะแรงงาน ปรับปรุงเครื่องจักร เป็นต้น
สำหรับกลุ่มคลัสเตอร์ที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญเป็นกลุ่ม ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และอุตสาหกรรมอนาคต เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดิจิตอล อาหาร ส่วนคลัสเตอร์เป้าหมายที่มีศักยภาพ และรัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ 360” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น