xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์หนุนแฟรนไชส์โกอินเตอร์ หวังดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวรัตนา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ ประจำปี 2559 (แฟรนไชส์โกอินเตอร์) พร้อมจัดสัมมนา “แฟรนไชส์ไทย 360 องศา” มุ่งให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยให้พร้อมก้าวสู่ต่างประเทศ เล็งนำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงแฟรนไชส์ในตลาดพม่า และฟิลิปปินส์ หวังเจาะกลุ่มนักลงทุนต่างแดนแห่ซื้อแฟรนไชส์ไทย

นางสาวรัตนา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดสัมมนา “แฟรนไชส์ไทย 360 องศา” พร้อมเปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ ประจำปี 2559 (แฟรนไชส์โกอินเตอร์) เพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ และการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพการตลาดให้ธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างและขยายโอกาสทางการตลาด และการขยายเครือข่ายธุรกิจแฟรนไชส์ไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการแฟรนไชส์ที่สมัครและมีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการจะได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการและการอบรมเชิงลึกด้านเทคนิคการสร้างตลาด เทคนิคการขายและการเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายเครือข่ายธุรกิจแฟรนไชส์อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์อยู่ประมาณ 1,200 ราย มีทุนจดทะเบียนรวม 70,000 ล้านบาท มีมูลค่าการตลาดทั้งระบบกว่า 200,000 ล้านบาท หรือประมาณ 9% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดในประเทศ ซึ่งถือได้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ไทยยังมีโอกาสขยายตัวอีกมากเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนมูลค่าของธุรกิจแฟรนไชส์อยู่ที่ร้อยละ 56 ของมูลค่าธุรกิจค้าปลีกในระบบ ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่าและเร็วกว่าการเริ่มธุรกิจด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยยังประสบปัญหาการวางแนวคิด รูปแบบ และการบริหารจัดการธุรกิจยังไม่ครบกระบวนการ ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ไม่สามารถขยายธุรกิจต่อไปได้ เนื่องจากผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ หรือที่เรียกว่า “แฟรนไชซอร์” ยังไม่สามารถจัดการระบบการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ของตนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์จนได้มาตรฐาน ดังนั้น การเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ของระบบแฟรนไชส์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจจนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่พร้อมจะส่งผ่านความสำเร็จนั้นไปยังผู้ที่สนใจซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ หรือที่เรียกว่า “แฟรนไชซี” และเมื่อแฟรนไชซอร์มีความเข้มแข็งได้มาตรฐานแล้ว การจะขยายเครือข่ายหรือธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องยาก เห็นได้จากปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่กรมฯ ได้ให้การส่งเสริมจำนวน 22 กิจการใน 38 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาได้แก่ กลุ่มค้าปลีก, การศึกษา, ความงามและสปา และบริการ สามารถขยายธุรกิจไปในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว

สำหรับการสัมมนา ในช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก ดร.พีรพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์ มาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ทั้งด้านการวางแผน การบริหารจัดการแบบรอบด้าน ส่วนในช่วงบ่ายจะเป็นการเสวนาหัวข้อ “มองอย่างเซียน....เทคนิคการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ” ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญ คุณกฤษฏ์ กาญจนบัตร กรรมการผู้จัดการ บริษัทคาร์แลค (ไทย-เยอรมัน), คุณบุญประเสริฐ พู่พันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็น แอนด์ บี พิซซ่าเครป, คุณศตวรรษ อำนวยเรืองศรี ผู้เชี่ยวชาญตลาดในประเทศพม่า และผู้เชี่ยวชาญตลาดในประเทศฟิลิปปินส์จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ มุมมอง ปัญหา และอุปสรรคในการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ รวมถึงทิศทางตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ใน 2 ประเทศเป้าหมายทั้งพม่า และฟิลิปปินส์
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น