xs
xsm
sm
md
lg

สแกน SMEs แวว"ขาขึ้น" ส่อ“ขาลง” แนะสูตร รุก-รับ ปรับตัวฝ่ามรสุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สถานการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจระดับกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอีไทย ในปี พ.ศ.2559 แต่ละสำนักต่างคาดแนวโน้มประเภทธุรกิจที่จะเป็น “ดาวรุ่ง” และ “ดาวร่วง” โดยสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อผู้ประกอบการรู้ทิศทางแล้วว่า ธุรกิจของตัวเองเข้าข่ายใด ควรต้องวางแผนธุรกิจให้ถูกต้อง โดยเฉพาะหากอยู่ในกลุ่มขาลง ต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อฝ่ามรสุมไปให้ได้

จากรายงานสถานการณ์เอสเอ็มอี ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประจำไตรมาส 3 พ.ศ.2558 ระบุประเภทธุรกิจที่มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น และลดลง ซึ่งจะบ่งบอกแนวโน้มในปีวอกด้วย โดยกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีรายได้ลดลง ได้แก่

ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผลต่อเนื่องมาจากนโยบายรถคันแรก ทำให้กำลังซื้อรถใหม่ยังซบเซา กระทบยอดสั่งผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี หดตามไปด้วย รวมถึง ค่ายรถยนต์หลายรายเลือกไปลงทุนเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ประเทศไทยจึงไม่ใช่ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ที่ผูกขาดในภูมิภาคแห่งนี้อีกต่อไป

ธุรกิจผลิตเครื่องจักรกล มีอัตราหดตัวเช่นกัน จากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว ภาคเอกชนไม่ลงทุนใหม่ หรือขยายการลงทุน การสั่งผลิตเครื่องจักรจึงลดตามไปด้วย

ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย กำลังประสบปัญหาด้าน “บุคลากร” ตั้งแต่ขาดแรงงานฝีมือคุณภาพ ทั้งนักออกแบบ วิศวกรรมสิ่งทอ เคมีสิ่งทอ เทคโนโลยีเสื้อผ้า ฯลฯ ที่จะมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกันค่าจ้างแรงงาน โดยเฉพาะช่างเย็บค่อนข้างสูง แบรนด์ต่างชาติที่เคยจ้างโรงงานไทยผลิตให้ เลือกย้ายฐานผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านแทน เพราะต้นทุนผลิตถูกกว่า

ธุรกิจการเกษตร โดยเฉพาะยางพาราและข้าว เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง อีกทั้ง ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่ยังเน้นปลูกแล้วขายวัตถุดิบสด ไม่มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ประกอบกับในปี 2559 จะเกิดภัยแล้งอย่างแน่นอน กระทบผลผลิตไม่ได้คุณภาพ และมีปริมาณน้อย

ส่วนประเภทธุรกิจที่คาดจะมีอัตราขยายตัว ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและต่อเนื่อง ธุรกิจก่อสร้างผลจากการลงทุนก่อสร้างโครงการเล็กๆ ของภาครัฐ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจด้านสุขภาพต่างๆ ธุรกิจบริการด้านการศึกษา และธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สสว.
ชี้ปมธุรกิจเด่นใช้คนน้อย ธุรกิจด้อยใช้คนเพียบ

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สสว. เผยว่า ข้อน่ากังวล คือ ธุรกิจที่คาดว่าจะเป็นดาวเด่น กลับใช้จำนวนแรงงานน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ยกระดับมีนวัตกรรม ใช้เทคโนโลยี และเครื่องจักรแทนแรงงานคน ในขณะที่ธุรกิจที่คาดว่าจะขาลง กลับใช้จำนวนคนงานมาก เช่น ภาคเกษตร คนงานในโรงงานสิ่งทอ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น เมื่อธุรกิจรายได้ลดลง อาจนำไปสู่การปลดคนงาน ตามด้วยการว่างงาน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ดังนั้น ในปี 2559 ทาง สสว. เตรียมโครงการ “รีเทรน โปรแกรม” (retrain program) เข้าไปยกระดับฝีมือและทักษะแรงงาน ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น รวมถึง พัฒนาธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้เกิดการยกระดับหรือ ย้ายธุรกิจและแรงงานที่อยู่กลุ่มเสี่ยงไปสู่กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล

แนะเร่งสำรวจตัวเองเพื่อวางแผนรุก-รับ

ผอ.สสว. แนะการปรับตัวของเอสเอ็มอี ในปี พ.ศ.2559 สิ่งสำคัญที่สุด ผู้ประกอบการต้องกลับมาสำรวจธุรกิจตัวเองเสียก่อน ด้วยใจเป็นกลางที่สุด พิจารณาว่าธุรกิจเป็นอย่างไร จะเดินต่อไปได้หรือไม่ ถ้าธุรกิจแย่มากๆ และมองไปในอนาคตแล้วไม่มีโอกาสเหลืออยู่เลย ต้องยอมเลิก แล้วไปเริ่มธุรกิจใหม่ที่ตลาดต้องการ

ต่อมาต้องหา “นวัตกรรม” มาเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือบริการ ตัวอย่าง เช่น “ข้าว” ราคาตกต่ำ แต่หากนำมาแปรรูป เข้าเทรนด์สุขภาพ ตลาดยังมีความต้องการสูง เป็นต้น ซึ่งการหานวัตกรรม เกิดได้ทั้งผู้ประกอบการคิดค้นเอง หรือเข้าหาหน่วยงานรัฐที่มีการสนับสนุนอยู่

นอกจากนั้น ต้องเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะผ่าน “ออนไลน์” ซึ่งเวลานี้ ภาครัฐส่งเสริม e-Commerce เพื่อเอสเอ็มอีเต็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่ช่วยเปิดหน้าร้านอินเตอร์เน็ต แต่ขยายไปสู่การวางระบบโลจิสติกส์ ช่วยให้การซื้อขายและขนส่งสินค้าเกิดประสิทธิภาพ

ตามด้วยพยายามสร้าง “แบรนด์” ไม่เป็นแค่ผู้รับจ้างผลิต หรือ OEM เพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้ง รักษาคุณภาพสินค้าหรือบริการ ลดความเสี่ยงถูกย้ายฐานผลิตอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

อีกทั้ง เอสเอ็มอีไทยต้องอย่าอยู่ลำพัง พยายามรวมตัวเสริมความเข้มแข็ง นอกจากนั้น พยายามเข้าหาความช่วยเหลือของภาครัฐให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลงทะเบียนเอสเอ็มอีกับ สสว. ซึ่งจะทำให้ธุรกิจได้รับการดูแลใกล้ชิดจากภาครัฐ

แจงแนวโน้มเอสเอ็มอีไทยปี 59

นางสาลินีระบุว่า การคาดการณ์แนวโน้มเอสเอ็มีอีไทย ประจำ พ.ศ.2559 อยู่ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2558 ที่ผ่านมา โดยไม่เกิดวิกฤตจนเกินการควบคุม ทั้งภัยธรรมชาติ ภัยก่อการร้าย หรือปัญหาการเมือง เป็นต้น แนวโน้มเอสเอ็มอีไทยจะเริ่มฟื้นตัวช้าๆ สอดคล้องไปกับเศรษฐกิจประเทศที่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวเช่นกัน มีปัจจัยบวกมาจากนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีของรัฐบาลชุดนี้ ที่ให้ความสำคัญต่อเอสเอ็มอีมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เห็นได้จากประกาศให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ สินเชื่อซอฟต์โลน ผ่อนเกณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นต้น ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เอสเอ็มอี

ปัจจัยเสริมต่อมา คือ ภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้ง การลงทุนภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายจากฐานล่างภายในประเทศ นอกจากนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา น่าจะส่งผลให้ภาคส่งออกไทยดีขึ้นบ้าง

ส่วนปัจจัยลบนั้น ผอ.สสว.ระบุว่า สำคัญที่สุด นักลงทุนทั้งไทยและเทศ ตั้งแต่ระดับเล็ก กลาง และใหญ่ ล้วนขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ รวมถึง ผู้บริโภคลดการจับจ่าย เนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมา ทั้งก่อการร้าย และการเมือง ล้วนทำลายความเชื่อมั่นมาอย่างต่อเนื่อง
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ม.ธุรกิจฯ สแกนลักษณะธุรกิจขาลง

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 580 รายจากทั่วประเทศ ธุรกิจที่คาดว่าจะเป็นดาวร่วงประจำปี 2559 ได้แก่

ธุรกิจรถทัวร์ เพราะคนนิยมใช้บริการน้อยลง หันไปใช้สายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ เพราะราคาไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่สะดวกและรวดเร็วกว่า นอกจากนั้น คนส่วนหนึ่งซื้อรถอีโคคาร์ใช้สัญจรระหว่างจังหวัดในระยะทางใกล้ๆ แทนการนั่งรถทัวร์ รวมไปถึง ธุรกิจสายการบินขนาดเล็กแบบเช่าเหมาลำ มีปัญหาใกล้เคียงกันที่สูญเสียลูกค้าให้โลว์คอสต์แอร์ไลน์

ธุรกิจร้านกาแฟสด แม้คนไทยจะนิยมดื่มกาแฟมาก แต่เนื่องจากมีร้านเปิดจำนวนมาก และปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตลาดขนาดเท่าเดิม แต่ตัวหารมากยิ่งขึ้น รายได้ของแต่ละราย จึงลดลงตามไปด้วย

ธุรกิจร้านบุฟเฟต์ราคาถูก เช่น หมูกระทะ ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ได้รับความนิยมอย่างสูง จากวัฒนธรรมอาหารเกาหลีเข้ามายังเมืองไทย แต่ปัจจุบัน กระแสซาไปแล้ว อีกทั้งร้านบุฟเฟต์ราคาถูก ขาดความเชื่อมั่นด้านความสะอาดและปลอดภัยจากผู้บริโภค

ธุรกิจร้านอินเตอร์เน็ต ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ และร้านโทรศัพท์มือถือมือสอง ธุรกิจเหล่านี้ มีลักษณะตรงกันที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี เช่น แทนที่จะเล่นเกมส์ออนไลน์ที่ร้านอินเตอร์เน็ต เปลี่ยนไปเล่นที่บ้าน หรือเล่นบนสมาร์ทโฟนแทน ในขณะที่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ ราคาถูกลงเรื่อยๆ เมื่อเครื่องมีปัญหา ผู้ใช้ยอมซื้อใหม่มากกว่าจะซ่อม

ธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก เกิดจากสภาพเศรษฐกิจซบเซา ผู้บริโภคจะมองสินค้ากลุ่มนี้เป็นของฟุ่มเฟือย เมื่ออยากประหยัด จึงตัดค่าใช้จ่ายซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูกใส่สนุกๆ ออกไปก่อน

ธุรกิจร้านโชวห่วยแบบดั้งเดิม ขาดความสามารถในการแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อรูปแบบใหม่ แม้หลายรายจะพยายามปรับปรุงรูปโฉมภายนอกแล้ว แต่ด้านระบบบริหารจัดการภายในร้าน ยังไม่สามารถสู้เจ้าตลาดได้

ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป ผลจากปัญหาการค้ามนุษย์ ธุรกิจของไทยถูกกีดกันการค้า ซึ่งการแก้ไขต้องเป็นเรื่องเจรจาระดับประเทศ

ดร.เกียรติอนันต์ เผยว่า ข้อสังเกตของธุรกิจที่เป็นดาวร่วงนั้น จะเป็นธุรกิจที่ไม่ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้แล้ว รวมถึง เป็นธุรกิจที่ตลาดใกล้เต็ม และจับลูกค้าระดับกลางทั่วไปไร้ความโดดเด่น ซึ่งนับวันตลาดจะเล็กลงเรื่อยๆ เพราะการทำตลาดเพื่อผู้บริโภคปัจจุบัน ควรมุ่งสู่ตลาดบนไฮเอ็นด์ หรือไม่ก็ต้องจับตลาดล่างราคาถูกๆ ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า

ส่วนธุรกิจที่คาดจะเป็นดาวรุ่ง ในปี 2559 ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ บูติคโฮเทล/โฮมสเตย์/โรงแรมราคาประหยัด สายการบินต้นทุนต่ำ ร้านขายอุปกรณ์กีฬาออนไลน์ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การสอนภาษาอังกฤษ จักรยานและอุปกรณ์ ดูแลสุขภาพ แอพพลิเคชั่นบนมือถือ และการขนส่งระยะสั้น/BTS/MRT

โดยจุดร่วมของธุรกิจดาวรุ่ง ตรงกันที่เป็นธุรกิจตอบไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน ที่ต้องการความสะดวกสบาย และดีต่อสุขภาพ รวมถึง ต้องการความคุ้มค่าในสินค้าหรือบริการ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เปิดคาถาเอาตัวรอดของเอสเอ็มอีประจำปีวอก

ดร.เกียรติอนันต์ เผยว่า ก่อนอื่นเอสเอ็มอีต้องพิจารณาดูธุรกิจที่ทำอยู่ว่ามีทางจะรอดหรือเปล่า ตามด้วยพยายามหาทางลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมากที่สุด และเลือกจับลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน ส่วนด้านสภาพคล่อง ควรหาทางให้รายได้เข้ามาเร็วที่สุด และจ่ายออกให้ช้า เพื่อให้ธุรกิจมีเงินทุนไว้หมุนเวียนสะดวก ด้านกลยุทธ์การขาย ควรหยุดลดราคา เพราะจะยิ่งทำให้รายได้ลดลงไปอีก แต่ควรหันมาเน้นทำสินค้าหรือบริการที่ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า และราคาสมเหตุสมผล ซึ่งลูกค้าจะยินดีจ่ายมากกว่าของถูกแต่คุณภาพต่ำ

นอกจากนั้น ต้องมุ่ง Go Online and Go on Land หมายถึงทำตลาดออนไลน์ควบคู่กับลงพื้นที่จริง เพราะการเปิดใช้ 4G ช่วยให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการแข่งขันในโลกออนไลน์สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการนอกจากทำตลาดออนไลน์แล้ว ต้องลงพื้นที่ออกไปพบลูกค้าโดยตรงด้วย เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าให้เกิดความใกล้ชิด

ม.หอการค้าไทยชี้เทรนด์สุขภาพแรงต่อเนื่อง

ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงธุรกิจที่คาดจะเป็นดาวเด่นในปี 2559 โดยประเมินจากยอดขาย ต้นทุน การรับมือกับความเสี่ยง กำไร และกระแสความต้องการของตลาด พบว่า อันดับ 1 ธุรกิจทางการแพทย์และความงาม ซึ่งต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากความใส่ใจดูแลสุขภาพและความงามของคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึง ธุรกิจสุขภาพและความงามของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ ในด้านคุณภาพและราคาไม่แพง

ส่วนธุรกิจอันดับ 2 เป็นธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสาร เนื่องจากการเข้าสู่ยุค Digital Economy และ 4G ทำให้มีการพัฒนาระบบสื่อสารที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ระบบสื่อสารมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันดับ 3 ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว อันดับ 4 ธุรกิจการท่องเที่ยว อันดับ 5 ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต

อันดับ 6 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเพื่อสุขภาพ อันดับ 7 ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ อันดับ 8 มี 2 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจจัดการตลาด เช่น ตลาดนัดและตลาดสด ตลาดนัดกลางคืน และธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างและธุรกิจก่อสร้าง อันดับ 9 มี 2 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ และธุรกิจยา เวชภัณฑ์ และสมุนไพรธรรมชาติ และอันดับที่ 10 มี 2 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน

ส่วน 10 อันดับธุรกิจดาวร่วงปี 2559 ประกอบไปด้วย 1.ธุรกิจหัตถกรรม 2.ธุรกิจฟอกย้อม 3.สิ่งทอผ้าผืน 4.ธุรกิจจำหน่าย ผักและผลไม้อบเเห้ง และธุรกิจร้านค้าดั้งเดิมที่ไม่ปรับตัว 5.กิจการรับซื้อยาง 6.โรงสีขนาดเล็ก 7.ธุรกิจสิ่งพิมพ์ หนังสือ 8.ธุรกิจรับซื้อคอมพิวเตอร์มือสองและร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือสอง 9.ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องจักรทางการเกษตร และ 10.ธุรกิจพ่อค้าคนกลางสินค้าทางการเกษตร

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น