xs
xsm
sm
md
lg

“พิชัย” เจ้าเก่า ยกสารพัดปัญหา คาดการณ์ปี 59 เศรษฐกิจไทยยังย่ำแย่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พิชัย  นริพทะพันธุ์ (แฟ้มภาพ)
ทีมคณะทำงานเศรษฐกิจ เพื่อไทย ยกสารพัดปัญหาพยากรณ์เศรษฐกิจไทยปี 2559 เชื่อยังไม่ฟื้น ยกเป็นปีแห่งความยุ่งยาก ย่ำแย่

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย คาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2559 ว่า ยังคงมีสภาวะย่ำแย่ไม่ต่างจากปี 2558 แต่ประชาชนอาจจะลำบากมากกว่าเดิม เพราะเจอผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง โดยภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้นนัก แม้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวแล้ว ถึงขนาดเริ่มต้องขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่ประเทศไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ เพราะสหรัฐฯประกาศตัดจีเอสพีไทยในต้นปี 2559 นี้ แถมมีการเรียกร้องไม่ให้ซื้ออาหารทะเลจากไทย การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และคาดกันว่า อาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกต่อเนื่อง จะทำให้เงินทุนไหลออกกลับไปสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว และตลาดหุ้นของไทยจะผันผวน ส่วนอียูก็ยังคงตัดจีเอสพีและไม่เจรจาเขตการค้าเสรีกับไทย เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย การตัดจีเอสพีนี้ก็เหมือนกับการแซงชั่นกลาย ๆ เพราะเท่ากับราคา สินค้าไทยต้องแพงขึ้น เนื่องจากต้องจ่ายภาษีเต็ม ซึ่งจะสู้สินค้าคู่แข่งไม่ได้ ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงซบเซาต่อเนื่องไปอีกหลายปี จึงหวังพึ่งจีนยาก และเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่ฟื้น การคาดหวังก็คงได้เฉพาะการค้ากันเองในกลุ่มอาเซียนแต่ในอนาคตไทยอาจจะต้องนำเข้าจากอาเซียนมากกว่าจะส่งออกเพราะการลงทุนที่ลดลง

ดังนั้น การที่รัฐบาลคาดหวังว่าการส่งออกที่ตกต่ำในปี 2558 ที่ลดลงกว่า 5.5% จะกลับมาโต 5% ในปี 2559 คงเป็นไปได้ยาก อีกทั้งการลงทุนก็ยิ่งจะหดหายการที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะมีการลงทุนเพิ่มหนึ่งเท่า จากปีนี้ที่ย่ำแย่เหลือแค่สองแสนกว่าล้านคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศไม่ต้องการเสี่ยงที่จะลงทุนในไทย เพราะไม่แน่ใจว่าจะเจอการกีดกันการค้าในรูปแบบต่าง ๆเพิ่มอีกขนาดไหน ซึ่งไทยโดนเรื่อง ICAO, IUU, FAA และถูกตัดจีเอสพี มาแล้ว อีกทั้งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการดำเนินคดีในแบบต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล แม้กระทั่งการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับทูตต่างประเทศ ยิ่งทำให้นักลงทุนต่างประเทศไม่มั่นใจมากขึ้น แถมยังมีการโยกย้ายการลงทุนออกไปแล้ว ซึ่งการโยกย้ายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนามได้ ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน การคาดหวังจะเกิดคลัสเตอร์ของการลงทุนจึงเกิดได้ยาก เพราะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศเข้ามา การเพิ่มสิทธิประโยชน์บีโอไอก็จะไม่ได้ช่วยให้การลงทุนเพิ่มขึ้น นักลงทุนจะลงทุนเฉพาะส่วนต่อเนื่องจากเดิมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ส่วนการนำเข้าที่ลดลงมากโดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนแสดงถึงอนาคต การส่งออกที่จะลดลงมากตามไปด้วย การบริโภคในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมากโดยเฉพาะราคายางเนื่องจากราคาน้ำมัน ในตลาดโลก ลดต่ำลง และอาจจะต่ำอีกนาน และอยากให้รัฐบาลไทยและคนไทยได้เข้าใจบริบทใหม่ของโลกที่ราคาน้ำมันจะมีราคาถูกไปอีกนาน ซึ่งจะส่งผลกระทบในหลายเรื่อง ซึ่งในปัจจจุบันประเทศไทยที่ประหยัดการนำเข้าน้ำมันปีละหลายแสนล้านบาท แต่กลับไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ ยังเจอภาวะภัยแล้งต่อเนื่องที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถ ปลูกพืชผลการเกษตรได้ คนชั้นกลางก็อาจจะช้อปปิ้งที่หักภาษีได้ในวงเงิน 15,000 บาทแล้ว อาจจะไม่มีกำลังซื้ออีกมากนักหลังปีใหม่ SME ยังคงประสพปัญหาไม่สามารถขายสินค้า และบริการได้และจะต้องปิดกิจการเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก มาตรการที่ช่วยเหลือ SME ก็เพียงแต่ชะลอการปิดตัวเท่านั้น การท่องเที่ยวอาจจะยังคงไปได้แต่นักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีรายได้ สูงไม่เดินทางเข้ามา เนื่องจากข่าวสารในด้านลบที่กระจายออกไปทั่วโลก และบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ ปัญหาความปลอดภัยทางการบินยังไม่ได้หมดไป อีกทั้งปัญหาการก่อการร้าย การลงทุนและการใช้จ่ายในภาครัฐยังมีความไม่แน่นอนในประสิทธิภาพของการขับเคลื่อน และปัญหาความคุ้มค่าในการลงทุนขนาดใหญ่

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจในปี 2559 ยังคงที่จะซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งจะยุ่งยากและย่ำแย่ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุนไปเรื่อย ๆ และโอกาสการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนก็เริ่มจะหมดไป ซึ่งการรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบใน อนาคต แทนที่จะได้เปรียบเพราะไทยจะกลายเป็นผู้นำเข้าสินค้าแทนที่จะเป็นผู้ส่งออก และไทยจะมีการเจริญเติบโตที่ต่ำที่สุดในอาเซียนเป็นปีที่ 4 ติดกัน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตในระดับที่สูงมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆประเทศเพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจโต มากกว่าไทยจะตามทันและแซงไทยไปในเวลาไม่ช้านี้

เรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข 1) แก้ภาพพจน์ที่ติดลบในข่าวสารที่กระจายออกไปทั่วโลก 2) ต้องไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันเสรีภาพหรือการจับคนโดยไม่มีข้อหาอันควรตาม มาตรฐานสากล 3) การยอมรับการเห็นต่างเพื่อนำ มาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ 4) ปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง และยอมรับปัจจัยที่แท้จริงที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซา และเร่งหาทางแก้ไข 5) แผนการเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งนี้รวมถึงวันที่ที่แน่นอนในการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักสากลที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น