เมื่อพูดถึง “ไผท ผดุงถิ่น” ผู้ก่อตั้ง - ผู้บริหารสูงสุด บริษัท บิลค์ เอเชีย ในวงการธุรกิจก่อสร้าง - ธุรกิจออนไลน์ ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเขาเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ให้กับวงการธุรกิจก่อสร้าง - ธุรกิจออนไลน์ เป็นรายแรกของเอเชีย ที่พัฒนาซอฟท์แวร์ระบบ ERP สำหรับธุรกิจก่อสร้างโดยเฉพาะ
และวันนี้ Builk.com เว็บแอพพลิเคชั่นที่ไผทต่อยอดมาจากซอฟท์แวร์ระบบ ERP เพื่อตอบโจทย์ตลาดแมส เจาะผู้รับหมาก่อสร้างระดับ SMEs ก็กำลังกลายเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ที่แม้แต่ต่างประเทศยังต้องจับตามองดังนั้น วิธีคิดในทางธุรกิจ และกลยุทธ์ในการตีฝ่าวิกฤตของไผท จึงน่าศึกษายิ่ง
แต่ก่อนจะมาเป็นวันนี้ ได้ผ่านอะไรมาบ้าง และผ่านมาได้อย่างไร ไผทย้อนความให้ฟังว่า “ผมเรียนจบวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนยุควิกฤตเศรษฐกิจ 2540 พอดี ที่เลือกเรียนก่อสร้าง เพราะตอนนั้นมันเป็นยุคทอง ใครๆก็เรียนวิศวกรรมโยธา รายได้มันดีที่สุด แต่พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจเข้าไป วงการก่อสร้างมันก็เงียบ คนที่จบวิศวกรรมโยธามาก็ไปเฝ้าคุมงานปูพื้นปูถนนเงินเดือน 9,000 บาท เพราะไม่มีงานก่อสร้างให้คุม
แล้วก็มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่รู้สึกว่าไม่ชอบงานก่อสร้าง เพราะรู้สึกว่าวงการนี้มันสกปรก โกงกัน ก็จะมีประสบการณ์ไม่ดีอยู่ช่วงหนึ่ง เป็นจุดที่ทำให้เราคิดว่าเปลี่ยนไปทำงานสาย Business ดีกว่า ก็จับพลัดจับผลูไปทำ Business Development เกี่ยวกับการวางระบบไอทีในบริษัทวัสดุก่อสร้าง ก็รู้สึกว่าไอทีเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในวงการธุรกิจ
ตอนนั้นมองเห็นโอกาสแล้วนะ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มทำอะไรเกี่ยวกับไอที ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในวงการก่อสร้าง
พอปี 2545 ก็เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างร่วมกันกับเพื่อน ไหนๆก็เรียนมาทางนี้ แล้วคุณพ่อก็ทำงานทางด้านนี้มา เราก็สามารถคุมงานก่อสร้างได้ พอมีตังค์อยู่นิดหน่อย ก็ตัดสินใจลุยไปเลย ไม่ได้มี Strategy อะไรทั้งสิ้น
ตอนนั้นอายุแค่ 23 ปี กำลังห้าว คิดน้อยไปหน่อย
ผ่านไปสัก 2-3 ปี รู้สึกว่าทำไมเงินมันไม่เหลือ หน้างานก่อสร้างมีปัญหาทุกวัน ก็ต้องแก้ปัญหารายวันไป ไม่มีเวลามาวางแผนว่าจะต้องทำยังไง ก็เริ่มคิดว่าเราควรจะมีระบบไหม ควรจะมีโปรแกรมบัญชีไหม ก็ค่อยๆเรียนรู้จากโง่ๆมาเลย ไปหาโปรแกรมบัญชีมาใช้ ก็ตอบนักบัญชีได้ ตอบสรรพากรได้ แต่ก็ยังไม่รู้อยู่ดี ว่างานที่เราทำไป มันกำไรหรือขาดทุน โปรแกรมบัญชีมันตอบโจทย์ตรงนี้ไม่ได้”
ตอนนั้นประมาณปี 2548 ไผทจึงพยายามหาซอฟท์แวร์ระบบ ERP สำหรับธุรกิจก่อสร้าง ที่สามารถตอบโจทย์การบริหาร ทั้งการบริหารต้นทุน การบริหารหน้างาน ฯลฯ แต่เขาหาไม่ได้
“ผมจึงเกิดความคิดว่า ถ้ามันไม่มี ก็ทำเองเลยแล้วกัน ก็ไปหาเพื่อนๆที่เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ แล้วให้โจทย์เขาไปว่าเราต้องการโปรแกรมที่สามารถควบคุมต้นทุนในการทำงานของวงการก่อสร้างได้ อยากได้ระบบเข้ามาช่วยในการทำงาน ก็ได้ซอฟท์แวร์ระบบ ERP มาตัวหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายพบว่า แล้วมันก็สามารถต่อยอดมาเป็นอีกธุรกิจได้ เลยเปิดบริษัทซอฟท์แวร์สำหรับธุรกิจก่อสร้างขึ้นมาอีกขาหนึ่งชื่อ ลองกอง สตูดิโอ ควบคู่ไปกับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ก็เขย่งอยู่ 2 บริษัทอยู่สักพัก ในปี 2550 ก็ขายหุ้นบริษัทก่อสร้างให้กับหุ้นส่วนอีกคนไป แล้วออกมาดูบริษัทซอฟท์แวร์เต็มตัว”
แต่จากนั้นไม่นาน ก็เริ่มมีการประท้วงทางการเมือง รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ก่อให้เกิดปัจจัยภายนอกมากระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง ธุรกิจซอฟท์แวร์ที่ใช้กับวงการก่อสร้าง ซึ่งกำลังจะดีขึ้น กลับต้องหยุดชะงักไปอีก
“ตอนนั้นก็กลับมาถามตัวเอง ว่าจะทำซอฟท์แวร์ขยายไปในอุตสาหกรรมอื่นดีไหม พวกร้านอาหาร ร้านค้า ทำโปรแกรมบัญชีทั่วไปขาย ธุรกิจไหนก็ซื้อไปใช้ได้ หรือจะโฟกัสอยู่กับอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไป แต่ความคิดหนึ่งก็แย้งขึ้นมาว่า อดทนต่อไปดีกว่า ถ้าจะตาย ก็ให้มันตายท่านี้ ถ้าอดทนต่อ วันหนึ่งเราอาจขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ได้ จึงตัดสินใจนำซอฟท์แวร์ไปขายที่เวียดนาม เราไปก่อนเลยช่วงปี 2550 นั่นแหละ ไม่ต้องรอ AEC แต่สุดท้ายก็เจ๊งกลับมา
สาเหตุที่เจ๊งเพราะว่าคิดน้อยเหมือนเดิม ลงเงินไปประมาณ 1 ล้าน แล้วก็ไปเช่าออฟฟิศแชร์กับคนอื่น มีลูกค้านิดๆหน่อยๆแต่ไม่พอกิน โปรแกรมเราไม่ได้ดีไซน์มาให้เหมาะกับคนเวียดนาม วิศวกรก็ยิ่งมีอีโก้ของตัวเองอยู่ พอบอกเป็นโปรแกรมไทยก็ไม่อยากใช้ อีกทั้งเวียดนามตอนนั้นเพิ่งเปิดประเทศ กฎหมายเปลี่ยนบ่อยมาก ไล่ทำตามไม่ทัน แล้วเราก็เห็นว่าต้นทุนมันสูง ในขณะที่รายได้มีน้อยมาก ก็เลยพับแผนกลับมา
พอกลับมาตั้งหลักกันใหม่ โอเค เมืองไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ไม่วายมีคู่แข่งในประเทศเกิดขึ้นมาอีก กลายเป็นปัญหาใหญ่ เราเป็นคนแรกเอ็นจอยตลาดอยู่ได้ 3-4 ปี พอเริ่มมีตลาด คู่แข่งก็เลียนแบบ ขายตัดราคาครึ่งหนึ่ง เลียนแบบตั้งแต่โลโก้ ชื่อบริษัท โอ้โห ชนกันยับเลยครับ วิกฤตต่างประเทศก็เจ็บ ในประเทศก็เจอคู่แข่ง
เราเลยวางตำแหน่งของโปรดักส์ใหม่ ตัวบนสุดจับลูกค้าญี่ปุ่นไปเลย ส่วนตัวกลางคือตัวที่ต้องชนกับคู่แข่ง ทีนี้มันต้องมีอีกตัวหนึ่งที่มีความเป็น mass มากขึ้น เราต้องคิดโปรดักส์สำหรับตลาดกลุ่มนี้ขึ้นใหม่ ตรงนี้จึงกลายเป็นแนวคิดของเว็บไซต์ Builk.comขึ้นมา”
วิธีคิดของไผท คือ บริษัทรับเหมาก่อสร้างในไทยมีอยู่กว่า 80,000 บริษัท แต่คนที่มีเงินซื้อซอฟท์แวร์มีอยู่แค่ 3,000 บริษัท ล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดกลาง ขนาดใหญ่ นั่นหมายความว่ากลุ่ม SMEs เลือกที่จะนำเงินไปลงทุนในส่วนอื่นมากกว่าการซื้อซอฟท์แวร์ที่มีราคาสูง หากต้องการให้กลุ่ม SMEs เข้าถึงได้ ก็ต้องทำซอฟท์แวร์ที่มีราคาถูกลง จึงเป็นที่มาของการนำซอฟท์แวร์ระบบ ERP เดิมที่เคยให้บริการกับธุรกิจก่อสร้าง มาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของเว็บแอพพลิเคชั่นเพ่อเจาะกลุ่ม SMEs
แต่ครั้งนี้ ไผทมีบทเรียนมาแล้ว อยากทดสอบก่อนว่า แนวคิดของเขามีความเป็นไปได้หรือไม่ เขาจึงเขียนแผนธุรกิจขึ้นมา ซึ่งแผนธุรกิจตัวนี้ เขียนจากแนวคิด Builk.com ได้รับรางวัลรองชนะเลิศการประกวดแผนธุรกิจของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2552 ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจว่า มาถูกทาง จึงเปิดบริษัท บิลด์ เอเชีย ขึ้นในปีเดียวกัน เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ ที่เป็นกลุ่ม SMEs
“เราจะทำโปรแกรมเก็บค่าบริการรายเดือนใช้ผ่านอินเตอร์เน็ต เดือนละ 3,000 บาท ผู้รับเหมาต้องใช้กระจายแน่นอน ไม่ต้องซื้อซอฟท์แวร์เป็นแสนเหมือนแต่ก่อนแล้ว เตรียมจะปล่อยอยู่แล้ว ก็ได้มีโอกาสไปคุยกับผู้ใช้งานมาจริงๆ พอไปคุยมา ทีนี้รู้เลย ว่าเขาไม่จ่ายเงินเราแน่ ต่อให้แค่เดือนละ 3,000 พันก็ตาม เพราะคนไทยรู้สึกว่าค่าซอฟท์แวร์รายเดือนมันเป็นเรื่องที่ผูกพัน ทำไมไม่ซื้อทีเดียวขาด จบๆไปเลย บางคนก็บอกใช้งานผ่านอินเตอร์เน็ตมันน่ากลัว
ก็ต้องกลับมาคิดว่า ทำอย่างไรถึงจะลดแรงต้านได้ ให้เขาเปลี่ยนใจมาเป็นลูกค้าเรา ก็ตัดสินใจทุบโต๊ะคุยกับเพื่อนเลย ว่าจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ให้ใช้ฟรีเลย เพราะถ้าเก็บตังค์รายเดือนแล้วไม่มีคนใช้ เราก็ตายอยู่ดี โปรแกรมมันจะเสร็จอยู่แล้ว เปลี่ยนโมเดลธุรกิจดีกว่าให้ใช้ฟรีไปเลยไหวไหม กัดฟันกันอีกหน่อย รวมตังค์กันมา ลุยต่ออีกหน่อยหนึ่ง เพราะอย่าง Facebook ที่มีคนใช้เยอะๆได้ ก็เพราะมันฟรี แต่เขามีรูปแบบธุรกิจเป็นการหารายได้จากทางอื่นอย่างโฆษณา
เลยเปิดโปรแกรมให้ใช้ฟรี เดือนเมษายน 2553 ก็เริ่มมีคนเข้ามามาทดลองใช้เยอะขึ้น 100 คนอาจจะมีคนแฮปปี้กับมันสัก 1 คน ในช่วงแรกมันเป็นอย่างนี้ ถ้าอยากได้ลูกค้าเพิ่มเราก็ต้องรุกไปหาเขา ก็เลยเปิดออฟฟิศวันเสาร์-อาทิตย์ ใครอยากจะเรียนรู้โปรแกรมตัวนี้ เราสอนฟรี คนก็มาเรียน 3 คนมั่ง 5 คนมั่ง มากี่คนก็สอนหมด พอเขาเข้าใจทั้งระบบแล้ว ก็จะไปลองใช้กันดูเอง นั่นคือแผนที่หนึ่ง
แผนที่สอง ก็คือ ผมมีลูกค้ากลุ่มเดิมอยู่แล้วที่เคยอยากจะซื้อซอฟท์แวร์ แต่มันแพงเกินไป เราก็จะแนะนำตัวนี้ให้
แผนที่สาม ไปเป็นวิทยากรสอนตามหลักสูตรเกี่ยวกับงานก่อสร้าง ในระดับปริญญาโท คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มอินโนเวเตอร์ เป็นกลุ่มผู้กล้าลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งเราก็จะได้คนกลุ่มนั้นมาเยอะ โดยมากจะเป็นพวกลูกเถ้าแก่ เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 หรือเด็กจบใหม่ที่กำลังจะเปิดธุรกิจ เขาต้องการระบบ
ย้อนกลับไปตอนที่เราเริ่มเปิดบริษัทรับเหมา เราไม่มีความรู้อะไรเลย เราก็อยากจะให้ทั้งความรู้ และเครื่องมือที่ดีกับ SMEs เปิดใหม่ ซึ่งก็คือ Builk.com ก่อสร้างมันเป็นธุรกิจที่เกิดง่ายตายเร็วที่สุด อยากจะเป็นผู้รับเหมาจดทะเบียนเลย มีกระบะคันหนึ่งก็เป็นผู้รับเหมาแล้ว ไม่รู้เลย vat มันแปลว่าไร วันนี้เราก็เลยทำซอฟท์แวร์มาให้คนแบบนั้นได้ใช้ และมันก็มีรายงานว่า ช่วยทำให้เขาเติบโตขึ้น ไม่ต้องทำธุรกิจแบบลูกทุ่งเหมือนแต่ก่อน โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มด้วย”
สำหรับกลยุทธ์ในการเขียนโปรแกรมของ Builk.com ไผทก็มีแนวคิดที่น่าสนใจเช่นกัน “เราเรียนรู้จากตลาดเวียดนาม ว่าโปรแกรมที่ซับซ้อนมากมันไม่เวิร์ค เราเลยแยกโปรแกรมออกเป็นชิ้นเล็กๆที่สุด แต่ก่อนคนจะบอกว่าความเชื่อมโยงเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางกลับกัน มันเป็นปัญหา เป็นอุปสรรคเหมือนกัน ถ้าโปรแกรมคุณเชื่อมตั้งแต่ A-Z แล้วมีปัญหาตรง D ตรง E เนี่ยไม่ต้องพูดเลย Z มันผิดชัวร์ Builk ก็เลยเกิดจากแนวคิดนี้ เราแยกจาก A-Z ลงมาเลย คุณอยากจะใช้ A-B ก็ใช้แค่ A-B อยากจะใช้แค่ F-G ก็ใช้แค่นั้น แล้วคุณก็แฮปปี้กับสิ่งที่คุณได้ แต่ถ้าอยากจะใช้โปรแกรมใหญ่ๆ A-Z คุณจะซื้อ ผมก็มี”
“ แต่ถ้าอยากใช้ฟรีสำหรับ SMEs แค่นี้มันพอแล้ว เราดีไซน์โปรแกรมขึ้นมาแบบคนขี้เกียจ ไม่ทำไอ้นี่ได้ไหม ไม่ทำไอ้นั่นแล้วมันจะตายหรือเปล่า โปรแกรมสมัยก่อนจะสร้างผู้ซื้อผู้ขายที ต้องมีรหัสเหมือนพวกนักบัญชี Builk ก็คิดตรงข้ามทุกอย่าง ไม่มีรหัสได้ไหม วันนี้เราเสิร์ชกูเกิ้ลไม่เห็นต้องมีรหัสเลย ด้วยความที่ไม่ยุ่งยาก ทำให้ลดแรงต้านลงไป”
Builk.com ก็คือ ระบบควบคุมต้นทุน ซึ่งเป็นหัวใจในการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มีระบบแสดงประวัติผลงาน ซึ่งจะมีพื้นที่ให้อัพเดทผลงานบนเว็บให้ลูกค้าได้ชม มีระบบวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะลิงค์กับซัพพลายเออร์ที่ขายวัสดุก่อสร้าง สามารถที่จะขอราคาและสเปค สามารถส่งข้อมูลกันบนเว็บได้เลย
มีระบบบริหารโครงการ ไว้สำหรับบริหารหน้างานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดทข้อมูล รูปถ่าย วีดีโอคลิป หรือเอกสารหน้างาน สามารถที่จะอัพเดตและแชร์ข้อมูลให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ตลอดเวลา รวมถึงระบบประมูลงาน
ถึงแม้จะตอบโจทย์การใช้งาน แต่ในช่วงแรกรายได้ของบริษัทกลับไม่ขยับตัว เพราะลูกค้าหลักอย่างร้านค้าวัสดุก่อสร้าง มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องซื้อโฆษณาบนเว็บไซต์ จึงต้องเลี่ยงไปนำเสนอขายให้กับบริษัทขนาดใหญ่ในแง่ของการทำ CSR แทนในมุมที่ว่า หากมีโปรแกรมควมคุมต้นทุนที่โปร่งใส ก็จะช่วยยกระดับให้กับวงการก่อสร้างไทย
“ด้วยความที่รายได้เข้ามาน้อยมาก จะทำยังไงถึงจะขยายฐานผู้ใช้ให้เยอะกว่านี้ ก็กลับไปเวียดนามอีกรอบหนึ่งในปี 2555 กะว่าจะไปสำรวจตลาด ก็ไปเจองานประกวดแผนธุรกิจงานหนึ่ง เขาพูดถึงเรื่องธุรกิจ Start Up และการทำ Venture Capital ร่วมกับนักลงทุน ซึ่งตอนนั้นผมไม่มีความรู้อะไรเลย แต่ก็ไปสมัครแข่งกับเขาด้วย ปรากฏว่าได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจากประเทศเวียดนาม ไปพรีเซ็นต์รอบสุดท้ายที่งาน Echelon ประเทศสิงคโปร์
Echelon เป็นการประกวด Start Up ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งเราก็ได้รับรางวัลชนะลิศกลับมาในปี 2555 เพราะไม่เคยมีใครทำโปรแกรมฟรีในวงการก่อสร้างมาก่อน หลังจากนั้นก็มีพวกนักลงทุน มีผู้เชี่ยวชาญมาสอนเราเต็มไปหมดเลย เป็นช่วงที่โมเดลธุรกิจปรับตัวเร็วมาก
สุดท้ายเราได้ประโยคเด็ดขึ้นมาตัวหนึ่ง โฆษณายังไงมันก็ไม่โตในวงการอินเตอร์เน็ต โฆษณามันเป็นรายได้ที่ใครๆก็หาเข้ามาได้ คนที่เปิดเว็บไซต์ใหม่ แล้วลอกคอนเทนต์คุณมาทั้งหมดเลย เขาก็ไปหาโฆษณามาได้เหมือนกัน มันจะไม่มีไรเหลือเลย แต่สิ่งที่คุณมี และไม่มีใครสามารถเอาไปจากคุณได้ น่าจะเป็นเรื่องของข้อมูลมากกว่า 1,500 บริษัทที่ใช้โปรแกรมเรา เขาซื้ออะไร เขาขายอะไรบ้าง ทำงานก่อสร้างที่ไหนบ้างในประเทศไทย ข้อมูลเหล่านี้มันมีค่า กลายเป็นว่าเราได้เจอแหล่งรายได้ที่ 2 ของเรานอกจากโฆษณา
เราเริ่มมีความฉลาดในการเอาข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วก็ทำมาร์เก็ตติ้งรีเสิร์ชให้กับแบรนด์วัสดุก่อสร้าง คนอีสานเขาต้องการหลังคาแบบนี้ หน้านี้ขายดี หน้านี้ขายไม่ดี ระดับราคาที่ควรจะขายได้ในแต่ละภาคเป็นเท่าไหร่ ก็มาสู่ยุคที่ 2 ของ Builk คือ รายได้มาจากการทำวิจัยตลาด”
จากความสำเร็จครั้งนั้น ทำให้ไผทได้รับโอกาสดีๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นการได้พบกับนักลงทุนจากบริษัทโปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้าง ได้รับเงินทุนมา 12 ล้านบาท ในปี 2556 รวมถึงได้รับเชิญจากกองทุนเกี่ยวกับธุรกิจ Start Up ในประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ไปศึกษา เรียนรู้งานที่ซิลิคอน วัลเลย์เป็นเวลา 4 เดือน
“ผมไปซิลิคอน วัลเลย์ด้วยคำถามว่า ธุรกิจแบบนี้มันจะโตได้ไหม มันจะขยายต่อยังไง เรามีเงินแต่เราตันอยู่ผู้รับเหมามี 80,000 ราย แต่เรามีคนใช้แค่ 2,000 ราย คำตอบที่ได้กลับมา ก็คือ คุณต้องแฮนด์เชคกิ้ง ต้องไปจับมือคนเยอะๆ ต้องไปเจอเน็ตเวิร์คกิ้ง คนก่อสร้างยิ่งเป็นบีทูบีด้วย ยิ่งต้องเจอกันตัวเป็นๆ เราก็เลยกลับมาเปลี่ยนทีมใหม่ เปลี่ยนวิธีการใหม่ หลังจากนั้นผู้ใช้ก็โตขึ้นมาเท่าหนึ่งภายใน 4 เดือน ถือว่าเร็วมาก ก็ได้บทเรียนที่ดีมาจากซิลิคอน วัลเล่ย์เยอะ
ฝรั่งตั้งคำถามว่า ทำไมคุณต้องให้ใช้โปรแกรมฟรีด้วย ทำมาขนาดนี้ ถ้าของคุณดีจริง ช่วยผู้ประกอบการได้จริง เขาก็ต้องจ่ายเงินคุณอย่างน้อยเดือนละ 10 เหรียญ ตรงนี้เป็นเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม คนไทยใช้โปรแกรมเถื่อนกันจนเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่ฝรั่งก็จ่ายเงินค่าโปรแกรมเป็นเรื่องปกติเหมือนกัน วิธีคิดมันไม่เหมือนกัน เราเลยบอกว่า ผมจะไม่ไปซีกยุโรปกับอเมริกาในช่วงนี้แน่นอน แต่จะโฟกัสอยู่ที่เอเชียซึ่งมีพฤติกรรมแบบนี้ที่เราเข้าใจได้
พอกลับจากอเมริกา ก็มาโฟกัสตลาดอาเซียน อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ตอนนี้เราก็มีผู้ใช้อยู่ทั่วอาเซียน 2,000 กว่าบริษัท ลูกค้าในไทย 4,400 บริษัท ผู้ใช้เพิ่มขึ้น ข้อมูลก็เพิ่มขึ้น ตอนนี้ผมมีงานก่อสร้างในมือมูลค่ากว่า 20,000 ล้าน จาก SMEs ที่ใช้ Builk 6,000 กว่ารายจากทุกประเทศ มียอดสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง ประมาณ 7-8 พันล้านต่อปี
ก้าวต่อไปของ Builk คือ เราจะกระโดดมาทำในส่วนของวัสดุก่อสร้างด้วย วงการอื่นเขาเคยมียี่ปั๊วซาปั๊ว โชห่วย จากนั้นก็มาเป็นโมเดิร์นเทรด และกลายมาเป็นออนไลน์เทรดอย่าง Amazon, e-BAY, Alibaba วิวัฒนาการของอุตสาหกรรมอื่นมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว วงการก่อสร้างมันก็จะเกิดแบบนี้ขึ้นได้เหมือนกัน ยี่ปั๊วซาปั๊วเห็นแล้ว วันนี้มีโมเดิร์นเทรดก่อสร้างแล้วมากมาย
แต่หลังจากนี้ไป มันคือยุคของออนไลน์ เราก็เลยเริ่มทำตรงนี้ขึ้นมา ไปหาวัสดุก่อสร้างมาขายให้กับสมาชิก ส่งของตรง เพราะเรารู้ว่าคนนี้มีหน้างานก่อสร้าง ต้องการจะซื้อของอะไรบ้าง ผมก็ไปดีลตรงมาให้จากโรงงานผู้ผลิต ส่งของเป็นเทรลเลอร์ไม่ต้องมีสต็อก ถึงหน้างานทันที ลูกค้าผู้รับเหมาลดต้นทุนลงได้ โรงงานผู้ผลิตมีกำไรเพิ่มขึ้นได้ ก็เกิดเป็น e-commerce ในวงการก่อสร้าง
นี่คืออนาคตของเรา เป็นรายได้แหล่งที่ 3 นอกเหนือจากโฆษณา และวิจัยตลาด
ตอนแรกเราเอาของในโรงงานผู้ผลิตอย่างเดียว แต่ตอนนี้เรามีโกลบอลเฮ้าส์เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ วันนี้คุณทำงานด้วย Builk คลิกแค่ปุ่มเดียว พรุ่งนี้คุณไปรับของที่โกลบอลเฮ้าส์ได้เลย e-commerce ในวงการก่อสร้างมันใกล้ตัวกว่าที่คิดเพราะเทคโนโลยีมันไปเร็วมาก ตรงนี้เป็นอีกปัจจัยหลักที่ผู้ประกอบการในทุกธุรกิจจะต้องตาให้ทัน”
เพียงแค่ 2 เดือนของปี 2558 การขยายธุรกิจไปในไลน์ของเทรดวัสดุก่อสร้างออนไลน์ ช่วยสร้างรายได้ให้กับ Builk แล้ว 6 ล้านบาท สิ้นปีนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่ Builk จะมีรายได้โตขึ้นแบบก้าวกระโดด และเริ่มเนื้อหอมขึ้นเรื่อยๆในสายตาของนักลงทุนทั้งในไทยและต่างชาติ
เป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ของ Builk คือรายได้ที่เติบโตขึ้นกว่า 5 เท่า ส่วนในระยะยาว คือ การตั้งธงก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของ e-Commerce ในวงการก่อสร้างแบบทิ้งห่างคู่แข่ง
กลยุทธ์การทำธุรกิจในแบบของไผท ที่สู้แบบไม่ถอย และกล้าที่จะมองหาตลาดกลุ่มใหม่ๆฉีกไปจากกรอบเดิมของตัวเอง น่าจะเป็นต้นแบบให้กับผู้ประกอบการอีกหลายคนได้เป็นอย่างดี
@@@ ข้อมูลโดยนิตยสาร SMEs PLUS @@@
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *