สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง อาวุธลับที่จะช่วยให้ธุรกิจแจ้งเกิดหรือโดดเด่นกว่าคู่แข่ง คือ มี “นวัตกรรม” เฉพาะตัว อาจจะไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูงเกินเอือม แต่เลือกมาใช้ได้ถูกต้องและเหมาะสม อย่างในรายของ “ศักดิ์มงคลพร” สร้างความพิเศษให้แก่ “เทียน” ธรรมดาๆ ด้วยนวัตกรรมจุดแล้วไม่มี “น้ำตาเทียน” หยดออกมา แถมยังให้แสงสว่างมากกว่าด้วย
ศักดิ์ดา เบญจเทพานันท์ เจ้าของเทียนไร้น้ำตา “ศักดิ์มงคลพร” บุกเบิกธุรกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เนื่องจากเวลานั้นได้รู้จักกับช่างทำเทียนไหว้ท่านหนึ่งซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับการทำเทียนสูงมาก พร้อมได้รับคำแนะนำว่าเทียนเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการมาก
เขายอมรับว่าเวลานั้นไม่มีความรู้ในวงการเทียนเลย แค่ได้รับคำแนะนำว่า ตลาดดี ทำแล้วกำไรงาม ก็เลยตัดสินใจลงทุนกว่า 1,200,000 บาท ผลิตเทียนไหว้พระขาย โดยได้ช่างคนดังกล่าวเป็นผู้ผสมสูตรเทียนให้ อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกกลับไม่ได้สวยงามอย่างหวัง ด้วยความเป็นหน้าใหม่ในวงการ ไม่สามารถไปแข่งกับผู้ผลิตรายเดิมๆ ได้ แถมสินค้าก็ไม่แตกต่างจากรายอื่น
หลังขาดทุนต่อเนื่องกว่า 2 ปี จนมาถึงทางแยกต้องตัดสินใจระหว่างจะทำต่อหรือเลิกล้มธุรกิจนี้เสีย เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อสร้างนวัตกรรม “เทียนไขที่จุดไฟแล้วไม่มีน้ำตาเทียน” หลังจากเริ่มออกสู่ตลาด ช่วยให้ธุรกิจที่กำลังหมดไฟกลับมาสว่างสดใสและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
“เนื่องจากสินค้าเทียนมันเหมือนกันไปหมด ทำให้ผมคิดถึงการทำให้สินค้าของเราดีกว่าสินค้าทั่วไปในท้องตลาด ผมก็เริ่มจากใส่น้ำหอม เป็นกลิ่นหอมของดอกไม้ 9 ชนิด และผมได้คุยกับพี่ช่างเทียนคนเดิม ซึ่งเขาเสนอว่าสามารถผสมสูตรเทียนที่จุดแล้วไม่มีน้ำตาเทียนได้ ผมเลยลองให้ทำขึ้น หลังจากนั้นก็ไปเสนอขายร้านค้าต่างๆ โดยบอกว่าเทียนของผมมีกลิ่นหอมจุดแล้วไม่มีน้ำตาเทียนด้วย เขาก็สนใจทดลองขาย และพอลูกค้าซื้อไปใช้แล้วเห็นผลจริงก็เกิดความพอใจ ทำให้เทียนของเรามีออเดอร์เพิ่มขึ้นตามลำดับ” ศักดิ์ดากล่าว
เขาเผยด้วยว่า หลักที่ทำให้เทียนไม่มีน้ำตานั้นเป็นหลักวิทยาศาสตร์ง่ายๆ คือ เมื่อจุดไฟแล้วเกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่สมบูรณ์ก็จะไม่เหลือน้ำตาเทียนไหลหยด อีกทั้งจุดแล้วแสงสว่างมากกว่าเทียนไขทั่วไปเพราะพลังงานที่เผาไหม้สูงกว่านั่นเอง
ด้านการผลิตประกอบด้วยส่วนผสม 5 ตัว ได้แก่ พาราฟิน ปาล์มน้ำมัน สตีลิท พีอี และแว็กซ์ ซึ่งเป็นส่วนผสมในการทำเทียนไขทั่วไป แต่เทคนิคอยู่ที่สูตรผสมวัตถุดิบแต่ละตัวให้เมื่อจุดแล้วเผาไหม้ได้สมบูรณ์ที่สุด นอกจากนั้น ห้ามใช้เทียนเก่ารีไซเคิลหลอมละลายทำเทียนใหม่ เพราะจะมีผลให้การเผาไหม้ลดประสิทธิภาพลงด้วย
“การทำเทียนแบบไม่มีน้ำตาจะต้องเลือกใช้วัตถุดิบใหม่ และทำความสะอาดก่อนนำมาผ่านกระบวนการผลิต ในขณะที่โรงงานทำเทียนทั่วไปจะไปเหมาเทียนเก่าๆ จากวัดและนำมาหลอมทำเทียนขึ้นมาใหม่ วัตถุดิบคุณภาพไม่ดี ไม่สะอาด ทำให้เกิดน้ำตาเทียนมาก เมื่อจุดก็หมดเร็วเพราะความร้อนไปเผาไส้เทียนให้หมดเร็ว” เขาเสริม
ทว่า เพราะใช้ส่วนผสมจากวัตถุดิบใหม่ทั้งหมด และส่วนผสมบางตัวต้องใส่มากกว่าสินค้าเทียนทั่วไป ทำให้เทียนไร้น้ำตา แบรนด์ “ศักดิ์มงคลพร” จะมีต้นทุนผลิตสูงกว่าเทียนตามท้องตลาดประมาณ 20% ในขณะที่ราคาขายปลีกแทบไม่แตกต่างจากเจ้าอื่นๆ อีกทั้งยังส่งสินค้าให้แก่ร้านค้าตัวแทนเอง ไม่ได้ว่าจ้างบริษัทขนส่งเหมือนผู้ผลิตรายอื่นๆ เพราะอยากป้องกันเทียนหักเสียหายระหว่างทาง วิธีนี้ยิ่งทำให้ต้นทุนยิ่งสูง เบ็ดเสร็จเหลือกำไรจริงๆ เพียงแค่ 10-15% จากราคาปลีกเท่านั้น ส่วนเทียนทั่วไปตามท้องตลาดจะมีกำไรถึงเกือบ 50% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเน้นขายในปริมาณมาก แม้กำไรจะน้อยแต่ยังทำให้ธุรกิจเติบโตได้
ไม่เฉพาะนวัตกรรมเทียนไร้น้ำตาเท่านั้น ที่ผ่านมาแบรนด์ “ศักดิ์มงคลพร” ยังพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเทียนอีกหลากหลาย เช่น เทียนพรรษาแกะสลักลาย นอกจากสวยงามแล้ว ยังเผาไหม้สมบูรณ์ จุดได้หมดทั้งแท่น รวมถึงทำเทียนแฟนซี และเทียนสปา เทียนสีประจำวันเกิด เป็นต้น นอกจากนั้นแตกไลน์ขายสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธูป และผ้าไตร เป็นต้น โดยมีช่องทางตลาดส่งขายตามร้านค้าอุปกรณ์สังฆภัณฑ์ทั่วประเทศกว่า 500 ร้าน รวมถึงส่งเข้าห้างโมเดิร์นเทรดด้วย
ทั้งนี้ ด้านต่อยอดการผลิตนั้น ได้ระดมหาหุ้นส่วนเพิ่มอีก 5 คนเพื่อเพิ่มทุน ซื้อเครื่องจักรใหม่ขยายกำลังผลิต รวมถึงขอสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อมาเป็นทุนหมุนเวียน รวมถึงได้รับการสนับสนุนด้านการตลาดในการพัฒนาแบรนด์ และเสริมช่องทางตลาดให้ด้วย เช่น พาไปออกงาน “สุดยอด SMEs ของดีทั่วไทย” ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น
ศักดิ์ดาบอกด้วยว่า การสร้างนวัตกรรมเทียนไร้น้ำตาช่วยให้ธุรกิจผ่านพ้นช่วงวิกฤตมาได้อย่างชัดเจน เพราะช่วงปี 2554 ก่อนที่จะออกสินค้าตัวนี้มียอดขายรวมแค่ประมาณ 8 แสนบาท แต่หลังจากออกเทียนไร้น้ำตาแล้ว สิ้นปี 2555 มีรายได้รวม 8 ล้านบาท และปีต่อๆ มาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2556 เป็น 18 ล้านบาท ปี 2557 เพิ่มเป็น 27 ล้านบาท และปีนี้ (2558) คาดว่าจะถึง 48 ล้านบาท ซึ่งกว่า 50% มาจากยอดขายเทียน
“ตลาดเทียนส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะเป็นเจ้าเก่าแก่ ทำกันมาเป็นร้อยปี ไม่ค่อยพัฒนามากนัก แต่สำหรับผมคิดว่าถ้าเราไม่พัฒนา วันหนึ่งเราก็จะอยู่ไม่ได้ อย่างตัวผมเองเคยทำงานอยู่บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่มือถือ เมื่อก่อนแบตฯ สำรองขายดีมาก แต่ปัจจุบันยอดขายตกไปเยอะ เพราะแบตฯ รุ่นใหม่อายุใช้งานนาน หากแบตฯ เสียผู้บริโภคเลือกเปลี่ยนมือถือรุ่นใหม่ไปเลย หรืออย่างครอบครัวผม เมื่อก่อนรุ่นอากงขายถ่านไม้ มาถึงรุ่นพ่อแม่ผมก็ขายถ่านไม้ จนวันหนึ่งทุกบ้านใช้เตาแก๊สแทน ยอดขายถ่านไม้ก็ลดไปเรื่อยๆ มันทำให้ผมเห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ถ้าเราไม่ปรับตัวตามเราก็อยู่ไม่ได้” เขากล่าว
ติดต่อธุรกิจโทร. 0-2971-9382, 08-9634-2942, 08-6312-3845 หรือ www.sakmongkonpon.com , FB: sakmongkonporn
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *