xs
xsm
sm
md
lg

10 คำถามห้ามพลาด “ถาม” ก่อนซื้อแฟรนไชส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นี่คือ ไกด์คำถามหลักๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับสืบค้นความจริงที่ทำให้แน่ใจได้ว่า แฟรนไชส์ที่คุณสนใจอยู่นั้น จะไม่ทำให้คุณผิดหวัง คุณอาจจะถูกตะคอก หรือถูกมองว่าจุกจิกไปบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าเสียเงินที่เก็บมาไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ขอให้คุณถามด้วยน้ำเสียงที่อ่อนนุ่มหน่อยนะ

1.เปิดนานแล้วหรือยัง?
- บริษัทตั้งอยู่ที่ไหน ? มีใครเป็นเจ้าของตัวจริง ? มีพนักงานกี่คน ?

2.สถานะเป็นอย่างไร?
- มีกี่สาขาแล้ว? ร้านอยู่ที่ไหนบ้าง ? เป็นร้านของแฟรนไชซี่กี่แห่ง?

3.ใช้เงินทั้งหมดเท่าไร?
- มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ? รวมค่าเช่าหรือไม่?

4.เคยเปิดแล้วขาดทุนไหม?
- เพราะอะไร? มีความเสี่ยงใดบ้าง? จะป้องกันอย่างไร?

5.ขั้นตอนแฟรนไชส์อย่างไร?
- สัญญาอย่างไร? เปิดร้านได้ในเวลากี่วัน ? ต้องอบรมกี่วัน? เรื่องอะไรบ้าง?

6.หน้าที่ใครกันแน่?
-อะไรคือหน้าที่ของบริษัทแม่ ? อะไรคือหน้าที่ของผู้ซื้อแฟรนไชส์?

7.ใช้พนักงานกี่คน?
-จัดหาจากที่ใด? จ่ายค่าจ้างเท่าไร? แบ่งหน้าที่อย่างไรบ้าง?

8.ใครเป็นลูกค้าเป้าหมาย?
- จะขายใคร? ขายที่ใด? สินค้าตัวใดขายดี?

9.มีแผนสนับสนุนอย่างไร?
- ช่วยการตลาดอย่างไร? ระบบจัดส่งสินค้าอย่างไร? มีแผนโฆษณาอย่างไร?

10.คืนทุนได้เมื่อไร?
- ควรขายได้วันละเท่าไร? กำไรเฉลี่ยเท่าไร? ใช้เงินหมุนเวียนวันละเท่าไร?

ทั้งนี้ แบ่งการถามคำถาม ในส่วนแรกความสอบถามถึง “สถานะและความน่าเชื่อถือของบริษัทแม่เจ้าของแฟรนไชส์” เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ยิงคำถามเจาะลึก เกี่ยวกับ “รายละเอียดกิจการแฟรนไชส์” ที่คุณอยากซื้อ ถ้าคุณเอาจริงจะได้ไปขบคิดต่อถึงลูกค้าเป้าหมาย กำไรและขาดทุน ความคุ้มค่าของการทำแฟรนไชส์

ส่วนต่อมา คำถามเกี่ยวกับปัจจัยรองรับแฟรนไชส์ที่คุณสนใจ เช่น ต้องเตรียมคนกี่คน คำถามที่ต้องต่อเนื่องตามกันมาก็คือ แต่ละคนจะทำหน้าที่อะไรกันบ้าง คุณจะได้มองหาคนที่เหมาะสมในแต่ละตำแหน่งงาน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าอบรม เรื่องนี้ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ อาจเข้าใจผิด คิดว่าบริษัทแม่ จะจัดหนักให้แบบสำเร็จรูป หาพนักงานที่คล่องแล้วมาให้ ซึ่งที่จริงแล้วต้องเป็นหน้าที่ของผู้ที่จะซื้อแฟรนไชส์จะต้องจัดหาคนเข้าไปอบรม

นอกจากนั้น ก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์รายใด ควรถามผู้ขายแฟรนไชส์ให้แน่ๆว่า ใครคือลูกค้าของสินค้า-บริการนี้ ถ้าบอกว่าทุกคน ก็เตรียมเจ๊งได้เลย เพราะสินค้าที่ดีส่วนใหญ่ ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน มองเห็นตัวเป็นๆได้ว่าลูกค้านี้ มีหน้าตา อายุอานาม ประมาณไหน การที่คุณได้รู้ชัดแจ้งว่า กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ก็เป็นข้อมูลที่คุณจะประเมินสถานการณ์ได้ว่า ถ้าคุณลงทุนกิจการนี้แล้ว ใครจะมาซื้อของคุณ แล้วคุณคิดว่ามีไหม

อะไรคือสินค้าที่ขายดี เป็นอีกข้อมูลที่คุณควรรู้ เพื่อที่จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับความนิยมของลูกค้า หรือรู้ความนิยมของลูกค้าในแต่ละที่ เช่น กรุงเทพฯอาจจะชอบกินเมนูไก่ แต่ที่ต่างจังหวัดอาจจะชอบเมนูอื่นๆ เป็นต้น แต่ถ้าคุณเจาะเป็นตัวเลขมาด้วยยิ่งดี สมมุติว่า ผู้ขายแฟรนไชส์โม้กับคุณว่า นี่เป็นสินค้า ขายดีมากกกกกกๆเลย คุณอาจมีคำถามที่ต่อเนื่องถึงการให้ยกตัวอย่างว่า ขายดีที่ไหน วันหนึ่งได้เท่าไหร่ เพราะอะไรจึงขายดี นี่เป็นข้อมูลตัวเลข ที่คุณจะใช้สืบค้นความจริงต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนของคุณ

ต้องขายสินค้า วันหนึ่งได้เท่าไหร่ จึงจะพอค่าใช้จ่าย?
นี่เป็นคำถามที่สำคัญยิ่ง ที่คุณต้องรู้ คุณต้องรู้ว่า ถ้าคุณลงทุนซื้อธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว สมมุติว่า ลงไปทั้งหมดทั้งสิ้น 2 ล้านบาท คุณต้องมีรายได้ต่อวันเฉลี่ยเท่าไหร่กัน จึงจะเท่าทุน จึงจะมีกำไร หรือ ต้องขายได้เท่าไหร่ จึงจะได้กำไรเท่าที่คุณพอใจ

เหล่านี่เป็นคำตอบทองที่คุณต้องได้มา เพื่อที่จะนำมาประเมินว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ในการทำธุรกิจนี้ สมมุติว่า เป็นร้านเครื่องดื่มกาแฟ ผู้ที่ขายแฟรนไชส์ให้ตัวเลข ว่า ต้องมีรายได้ต่อวัน 10,000 บาท จึงจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมด นี่คือคีย์สำคัญ ที่คุณต้องนำมาขบคิด ถ้ากาแฟขายแก้วละ 50 บาท นี่เท่ากับว่าคุณต้องทำเป้าขายวันละมากกว่า 200 ถ้วย คุณสามารถทำได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน คำถามที่เกี่ยวกับตัวเลข เป็นเรื่องละเอียดลออ ที่คุณต้องรู้ ว่า เราจะต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเท่าไหร่ ธุรกิจจึงจะอยู่รอด และมีโอกาสทำกำไรได้ ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ส่วนมาก มักจะเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว บริษัทแม่จะมาดำเนินงานให้ จนคุณรอรับแต่ผลกำไร นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างไม่น่าเชื่อ การซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ จะได้กำไรหรือขาดทุน เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องทำขึ้นมาเอง เพียงแต่แฟรนไชส์ส่วนใหญ่จะมีข้อมูลสถิติตัวเลขที่ผ่านมา ที่ช่วยให้เราประเมินความเป็นไปได้ได้ง่ายขึ้น แต่ผู้ขายแฟรนไชส์ส่วนใหญ่มักจะชวนเชื่อ ด้วยตัวเลขปลอมๆ ดังนั้นหน้าที่ของผู้ที่จะซื้อแฟรนไชส์ ต้องเป็นนักสืบ สืบค้นความจริงว่า ตัวเลขยอดขายและผลกำไรต่อเดือนที่บริษัทแม่ให้ข้อมูลนั้น มีความจริงอยู่แค่ไหน และเป็นไปได้จริงหรือไม่

หน้าที่เราต้องทำอะไร หน้าที่บริษัทแม่ต้องทำอะไร ?
ความคาดหวังสูงเกินไป ความคาดหวังที่ไม่ตรงกัน เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง ดังนั้นก่อนที่เราจะซื้อแฟรนไชส์ ต้องชัดแจนกันก่อนว่า หน้าที่ของผู้ซื้อแฟรนไชส์คืออะไรบ้าง หน้าที่ของบริษัทแม่คืออะไร เชื่อไหมว่า ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ส่วนมากมากคิดว่า ถ้าซื้อแฟรนไชส์แล้วไม่ต้องลงแรงอะไรเลย รอรับผลกำไรอย่างเดียว นี่เป็นความคาดหวังที่มากเกินไป เพราะ การซื้อแฟรนไชส์นั้น ผู้ซื้อแฟรนไชส์ทุกคน ต้องเป็นผู้ประกอบการ และต้องบริหารจัดการร้านเช่นเดียวกับเถ้าแก่ทั่วไป เพียงแต่ถ้า ซื้อแฟรนไชส์แล้ว จะมีพี่เลี้ยงเป็นบริษัทแม่ ที่คอยประคับประคองให้ธุรกิจเกิดขึ้นและดำเนินไปได้ ส่วนการบริหารร้านจะได้เงินมาก-น้อย ก็ขึ้นกับความเอาใจใส่ของเจ้าของร้าน ดังนั้นถ้าจะให้ดี ก่อนซื้อแฟรนไชส์คุณควรได้รู้ก่อนว่า หน้าที่ของคุณคืออะไร เช่น ต้องลงทุนค่าอะไรบ้าง เช่น ค่าเช่า ค่าจ้างพนักงาน หน้าที่ต้องจัดหาพนักงาน ต้องหาสถานที่เองไม๊ หรือ บริษัทแม่เป็นคนหาให้ ตอนที่อบรม เราต้องอบรบด้วยมั๊ย ต้องส่งคนไปกี่คน นานเท่าไหร่ เป็นต้น

ส่วนบริษัทแม่ เราก็ต้องรู้ด้วยว่า มีอะไรที่เป็นหน้าที่ของทางบริษัทแม่บ้าง เช่น โฆษณาท้องถิ่น เราต้องทำเอง หรือบริษัทแม่ทำให้ งานด้านบัญชีใครทำ งานหาสถานที่ใครทำ งานอบรมพนักงานที่เข้ามาใหม่ใครทำ ฯลฯ ความชัดเจน เรื่องหน้าที่อะไรเป็นของใคร จะทำให้คุณได้เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนที่จะตัดสินใจ ไม่ใช่ว่า พอซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว อ้าวทำไมเรื่องนี้มาให้ชั้นทำล่ะ ไม่ใช่งานของบริษัทแม่หรือ ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งชนิดที่เรียกว่า เรื่องไม่เป็นเรื่องได้ง่ายๆ จนอาจเป็นเหตุให้กิจการล้มเหลวได้

ขั้นตอนการเป็นแฟรนไชส์ เป็นสิ่งที่ควรรู้เช่นกัน ขั้นตอนจะเริ่มอย่างไร เช่นให้คุณกรอกแบบฟอร์ม สมัครก่อน แล้วเข้าอบรมรอบแรกก่อน แล้วต้องมีอะไรอีกบ้างจนถึงวันเปิดร้าน รวมแล้วจะใช้เวลาซักประมาณเท่าไหร่ เพราะแต่ละแฟรนไชส์ก็รายละเอียดไม่เหมือนกัน บางแห่งให้อบรมรอบแรกก่อน บางแห่งก็เก็บเงินมัดจำก่อนเลย นี่ก็เป็นข้อมูลที่จะช่วยให้คุณเห็นขั้นตอนการสร้างธุรกิจของคุณ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ตัดสินใจ

“มีร้านที่ทำขาดทุนไหม เป็นใคร เพราะอะไร?” นี่เป็นอีก คำถาม ที่คุณจะไม่ได้คำตอบที่เปิดเผยนัก แต่ถ้าคุณได้เอ่ยถาม ก็จะดีกับตัวคุณเอง ถ้าคุณได้รับคำตอบมาว่า ไม่มีร้านไหนเลยขาดทุน ทุกคนทำแล้วรวยหมด คุณก็ต้องค้นหาความจริงว่าเป็นอย่างไร หรือคุณอาจจะเจอแฟรนไชส์ที่กล้าพูดความจริง ก็จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการคิดวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจที่ดีได้

เหล่านี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่ง ของการถาม “คำถาม” ที่จะทำให้คุณได้ข้อมูลที่ดี และใช้ประโยชน์ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง และสร้างการเตรียมตัวที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น

ที่มา : FRANCHISE FOCUS

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น