xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.เดินเครื่องแผนแม่บท ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมทำเงินเทียบสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล The Prime Ministers Industry Award
กระทรวงอุตสาหกรรม เดินเครื่องตามแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ดันอุตสาหกรรมไทยสู่ความมั่นคงและยั่งยืน พร้อมวางมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมทำเงิน หวังขึ้นแท่นเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมโลก

นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรมประจำปี 2558 เปิดเผยว่า จากภาพรวมแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในบริบทใหม่ ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในภาพรวมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการกำหนดทิศทางการพัฒนา เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมเพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ในอนาคต ทั้งนี้ หากเจาะลึกจะพบว่ารายได้ส่วนใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมเกิดจากการผลิตเพื่อส่งออก

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เป็นสินค้าหลักจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับกลางและระดับสูงในการผลิต รวมทั้งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักร เทคโนโลยี และเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนผู้ประกอบการทั่วทั้งประเทศ ต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะดำเนินการ ดังนี้

ในระยะที่ 1 เน้นการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฐานการผลิตและบริการในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่สำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก จากนั้นในระยะที่ 2 จากเป้าหมายการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและบริการในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยระยะแรกในช่วง 5 ปีจะมีการพัฒนาต่อยอดโดยเน้นการเป็นฐานการผลิตและบริการในระดับภูมิภาค และในระยะที่ 3 พัฒนาสู่การเป็นผู้บริหารจัดการตราสินค้า โดยมีการสร้างเครือข่ายการผลิตและบริการร่วมกับภูมิภาคต่างๆ ของโลก ซึ่งจะส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการของประเทศไทยให้เริ่มก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำของโลกผ่านการสร้างตราสินค้าของไทยให้เป็นที่รู้จัก และมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้ากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

จากการดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ตามแผนแม่บทของกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดกลยุทธ์ผลักดันการพัฒนา 5 กลุ่มอุตสาหกรรมทำเงินให้มีศักยภาพเทียบเท่าผู้นำในตลาดโลก ได้แก่

1. อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม มีมูลค่าส่งออกในปี 2557มากกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านของวัตถุดิบและบุคลากรค่อนข้างมาก แนวทางการพัฒนาจึงต้องมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตในอาเซียนและขยายช่องทางการตลาดให้เข้าถึงประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสร้างและประชาสัมพันธ์ตราสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ควบคู่กับการสร้างมาตรฐานการผลิตและเน้นการสร้างฐานการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดการยกระดับของอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง

2. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าส่งออกรถยนต์เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 มียอดส่งออกถึง 1.26 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.36% โดยไทยมีบทบาทในการเป็นผู้ผลิตตามเจ้าของตราสินค้าที่เป็นบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน จึงต้องสร้างแรงงานและโครงสร้างสนับสนุนให้มีความพร้อม เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และขยายไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และผลักดันให้เกิดการใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศมากกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ

3. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สร้างมูลค่าได้มากกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี โดยในปัจจุบันไทยเป็นผู้รับจ้างผลิตตามคําสั่งซื้อ ดังนั้น แนวทางการพัฒนาจึงต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นและสร้างความร่วมมือในการขยายเครือข่ายการผลิตไปยังผู้ประกอบการในภูมิภาค เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิต จากนั้นต้องส่งเสริมการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่การออกแบบและการดําเนินการทางตลาดเพื่อสร้างตราสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง มีมูลค่าส่งออกมากกว่า 3.7 แสนล้านบาท ในปี 2557 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกยางเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่เป็นการส่งออกในรูปของน้ำยางซึ่งมีมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าค่อนข้างน้อย จึงจําเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางแปรรูป เพื่อนําไปสู่การสร้างตราสินค้าของไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มบทบาทและความสําคัญในอุตสาหกรรมยางในระดับโลกมากขึ้น ทําให้มีอํานาจในการต่อรองและกําหนดทิศทางราคายาง ตลอดจนการควบคุมกลไกการผลิตยางในอนาคตได้

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าส่งออกในปี 2557 กว่า 2 ล้านล้านบาท โดยแนวทางการพัฒนาในระยะสั้นนั้นต้องเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสนับสนุนให้มีความเหมาะสมต่อการประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะด้านแรงงานและกฎระเบียบและก้าวถัดมานั้นต้องมุ่งเน้นสู่การพัฒนาแหล่งวิจัยเทคโนโลยีการออกแบบสินค้าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งขยายการตลาดไปในภูมิภาค และมุ่งสู่การสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ด้านนายคนอง ศักดิ์เพ็ชร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มโรงงาน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงานที่สูงมาก ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก โดยกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 4 ของโลก และเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอลอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากสภาพปัจจัยของประเทศไทยที่มีวัตถุดิบ พืชพลังงานที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอ้อย มันสำปะหลัง หรือปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชพลังงานที่สามารถปลูกได้เองบนผืนแผ่นดินและไม่มีวันหมด ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลได้ตระหนักและมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอ้อย โดยการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการจัดการมาพัฒนาธุรกิจและการดำเนินงานตามหลักมาตรฐานสากล ภายใต้นวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการยกระดับขีดความสามารถและการแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงานไทยในระดับสากล
นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น