xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.ดัน SMEs ผนึกกำลังสร้างคลัสเตอร์ ฝ่าวิกฤต ศก.ชะลอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)
รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเผย แนวทางรับมือเศรษฐกิจโลกทรุด ผลักดันเอสเอ็มอี ผนึกกำลังสร้างเครือข่าย “DIP SMEs Network” ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 246 ราย ตั้งเป้าปี 2560 มีสมาชิก 500 ราย พร้อมเตรียมพาสมาชิกบุก 3 ประเทศ กลุ่ม AEC กัมพูชา พม่า และเวียดนาม ย้ำเดินตามโรดแมปทีมเศรษฐกิจรัฐบาล พร้อมประสานเอสเอ็มอีแบงก์พาเข้าถึงแหล่งเงินทุน

นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทย ประกอบกับเศรษฐกิจโลกขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 5 กระทบการส่งออกของไทยในอนาคต ดังนั้น เพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าว ทาง กสอ.เตรียมแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไว้หลายแนวทาง รวมถึงการมุ่งเป้าการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่เอสเอ็มอี นั่นคือ การสร้างความเข้มแข็งด้วยการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเครือข่าย หรือคลัสเตอร์ เชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกัน ภายใต้ชื่อ “DIP SMEs Network” ซึ่งมีอุตสาหกรรมที่หลากหลายเข้ารวมกลุ่มเป็นเครือข่ายในครั้งนี้ เช่น อาหารบรรจุภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ และเพื่อให้การดำเนินการรวมกลุ่มเครือข่ายสัมฤทธิผล และมีการช่วยเหลือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทางกรมฯ จึงได้จัดให้มีการฝึกอบรม สนับสนุนเงินทุน พัฒนาวิธีการผลิต เป็นต้น

นอกจากนี้ ส่วนของการขยายตลาด AEC นั้นมุ่งเป้าที่ 3 ประเทศก่อน คือ กัมพูชา พม่า และเวียดนาม เพราะทั้ง 3 ประเทศอยู่ใกล้กับประเทศไทยที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยคุ้นเคยกับ 3 ประเทศนี้ และเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากในการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยที่ผ่านมาปี 2557 ผู้ประกอบการไทยส่งสินค้าไปจำหน่ายใน 3 ประเทศ กัมพูชา สูงถึง 1.45 แสนล้านบาท พม่า 1.36 แสนล้านบาท และเวียดนาม 2.53 แสนล้านบาท ตามลำดับ และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2558 กัมพูชาขยายตัวเพิ่มสูงถึงร้อยละ 16.3 พม่าขยายตัวร้อยละ 16.3 และเวียดนามขยายตัวร้อยละ 18.4 โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ และอุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลเกษตรและชิ้นส่วน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของ “DIP SMEs Network” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 การรวมตัวเครือข่ายครั้งนี้เกิดจากผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผลกระทบทางการเมือง ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 246 กิจการ โดยการรวมตัวในครั้งนี้ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน และส่งผลต่อธุรกิจต่างๆ มากมาย เช่น ร่วมเจรจาการค้ากับกลุ่มเครือข่าย DOYUKAI ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีสมาชิกญี่ปุ่นกว่า 40,000 กิจการ การประสานงานกงสุลไต้หวัน เกิดการค้าระหว่างไทย-ไต้หวัน การสร้างยอดขายแนะนำลูกค้าต่างประเทศให้เพื่อนสมาชิก สร้างมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทต่อปี และการลดราคาระหว่างสมาชิกด้วยกัน ทำให้ลดต้นทุนได้มากกว่า 100 ล้านบาท และสมาชิกส่วนใหญ่ของ “DIP SMEs Network” มีขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพทุกด้านอยู่แล้ว การรวมตัวกันยิ่งทำให้ธุรกิจเข้มแข็ง และผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ซึ่งกรมฯ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2560 จะมีการขยายสมาชิกให้ได้ไม่ต่ำกว่า 500 กิจการ

นายประสงค์กล่าวถึงการช่วยเหลือเอสเอ็มอี หลังรัฐบาลเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั้น ทางกรมฯ เดินไปตามโรดแมปของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ ซึ่ง กสอ.ได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือ ผลักดันกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ และในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม ส่วนปัญหาเอสเอ็มอีในขณะนี้คือ การขาดเงินทุนในการขยายกิจการ ซึ่งกำลังประสานงานร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากยิ่งขึ้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น