xs
xsm
sm
md
lg

9 หลุมพราง SMEs พลาดแล้วล้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อทำธุรกิจทุกคนคงใฝ่ฝันที่จะเห็นธุรกิจของตนเองประสบความสำเร็จ จนอาจจะมองข้ามสาเหตุหลายประการที่ทำให้ธุรกิจของเราล้มเหลวได้

1. คิดเล็กแต่ทำการใหญ่ ลงทุนเกินตัวทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่า สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ ลงทุนทั้งเครื่องจักร สร้างโรงงาน ผลิตสินค้าจำนวนมาก แถมยังกู้เงินจากธนาคารมาอีก เพราะมั่นใจว่าสินค้าของตนเองขายได้ แต่เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คิด ความเครียดก็จะมาเยือน ทั้งภาระหนี้สินที่ท่วมท้นและสินค้าที่ค้างสต๊อก

2. อิงกระแสแฟชั่น แต่เริ่มทำตอนตลาดวาย ธุรกิจที่เป็นแฟชั่นมักอยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อหมดกระแสความต้องการลูกค้าก็จะลดลงไปด้วย ถ้าหากคิดจะทำจริงๆ ควรศึกษาตลาดให้ดีว่า ลูกค้าคือใคร ใครคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง และจะสร้างความแตกต่างจากที่มีอยู่ได้อย่างไร

3. อารมณ์ศิลปิน เบื่อง่าย เลิกง่าย เป็นคนที่ไม่จริงจังในการทำธุรกิจ ทำเพียงเพราะความสนุกและขาดความตั้งใจ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ประกอบการที่มีฐานะร่ำรวย

4. ไม่อดทนและหวังผลเร็วเกินไป เมื่อเจออุปสรรคในการทำธุรกิจ หรือไม่เป็นอย่างที่หวัง แทนที่จะคิดแก้ปัญหากลับถอดใจล้มเลิกกิจการ แม้การล้มเลิกธุรกิจคือทางออกที่ง่ายที่สุด แต่ไม่ใช่ทางออกเดียวที่เหลืออยู่ เพราะผู้ประกอบการควรวิเคราะห์ถึงแก่นแท้ว่า มีจุดไหนที่มองข้ามไป แล้วค่อยๆ แก้ทีละจุดจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีกว่า

5. ลงมือทำแทนลูกน้องทุกอย่าง เกิดจากการไม่ไว้ใจลูกน้องหรือหุ้นส่วน อาจทำให้เราเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ควรทำ แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นเจ้าของธุรกิจต้องลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเองเพื่อเรียนรู้ แต่เมื่อธุรกิจโตขึ้น ควรถอยออกมาหนึ่งก้าว อยู่ในจุดที่มองภาพรวมมากกว่า และสร้างระบบเพื่อตรวจสอบลูกน้องแทนที่จะลงมือทำเองทุกอย่าง

6. ถูกโกง มีคนที่ไว้ใจคอยดูแลแทนในสิ่งที่ไม่ถนัด จึงละเลยและขาดความใส่ใจ ปล่อยให้หุ้นส่วนหรือลูกน้องดำเนินการแทนโดยเฉพาะเรื่องเงิน กว่าจะรู้ตัวก็ถูกยักยอกรายได้บางส่วนหรืออาจถูกโกงโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นควรมีการตรวจสอบรายรับรายจ่ายอยู่สม่ำเสมอ

7. แบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัว ขัดแย้งกับหุ้นส่วนธุรกิจ การมีหุ้นส่วนจำนวนมากที่มีแนวคิดไม่เหมือนกัน มักเกิดปัญหาขัดแย้งกับหุ้นส่วน อาจรุนแรงถึงขั้นล้มเลิกธุรกิจ ดังนั้นควรมีการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของหุ้นส่วนแต่ละคนอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น

8. ไม่ดูแลกระแสเงินสด ปล่อยให้เงินรั่วไหลโดยไม่รู้ตัว ธุรกิจจำนวนมากมีรายได้มาก แต่ไม่สามารถสร้างกำไรได้ เพราะปริมาณเงินสำรองจ่ายให้กับเจ้าหนี้ไม่สมดุลกับบัญชีลูกหนี้หรือรายรับในแต่ละเดือน ผู้ประกอบการควรดูแลกระเป๋าอย่าให้เงินขาดมือ และรายรับควรมากกว่ารายจ่าย

9. ไม่มีแผนสำรอง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ยอดขายไม่ตามเป้า พนักงานลาออก วัตถุดิบไม่พอ สินค้าผลิตไม่ทัน ลูกค้ายกเลิกออร์เดอร์กะทันหัน หากไม่มีการวางแผนล่วงหน้าหรือมีแผนสำรอง อาจส่งผลทำให้ธุรกิจสะดุดได้

ที่มา : K SME

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น