xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจ “การ์เมนต์” ชู CF เสริมศักยภาพผลิตครบตามออเดอร์ แถมลดต้นทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธัญนันท์ งามเสรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮย์คอว์ลิตี้ การ์เมนท์ จำกัด
เสื้อผ้าแฟชั่นนับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างสูง ทั้งจากผู้ผลิตในประเทศไทยเองและจากต่างประเทศ ดังนั้นความอยู่รอดของธุรกิจนี้อย่างยั่งยืนจึงต้องมีการเน้นในด้านการพัฒนาคุณภาพการผลิต ซึ่งบริษัท ไฮย์คอว์ลิตี้ การ์เมนท์ จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย เข้ามาพัฒนาปรับปรุงจนประสบความสำเร็จในการสร้างระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน ลดการสูญเสีย และสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า

ธัญนันท์ งามเสรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮย์คอว์ลิตี้ การ์เมนท์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามแนวแฟชั่น รวมถึงผ้าทอทั้งสีพื้นและผ้าลวดลายมาตั้งแต่ปี 2532 แต่ที่ผ่านมานั้นปรากฏว่าต้องประสบกับปัญหาด้านบุคลากรแผนกตรวจสอบคุณภาพเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขาดมาตรฐานการตรวจสอบ และขาดความชำนาญ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทประสบปัญหาอย่างมากมาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่บกพร่องไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถส่งงานให้แก่ลูกค้าได้เต็มจำนวนตามคำสั่งซื้อ สร้างปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการขาดส่งงาน

จากที่ได้พยายามแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จได้เกิดขึ้นเมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิต การจัดการ การตลาด และการบริการ (กิจกรรม CF) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในการพัฒนาระบบคุณภาพการผลิต

“เหตุผลเพราะเราต้องการที่จะปรับปรุงบุคลากรตรวจสอบคุณภาพ หรือเรียกว่า QA หรือ QC ให้สามารถปฏิบัติงานการตรวจสอบอย่างมีระบบมาตรฐาน และควบคุมคุณภาพงานให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงลดปัญหา หรือต้นทุนการสูญเสีย และสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า” ธัญนันท์กล่าว

ภายใต้การดำเนินการของกิจกรรม CF ธัญนันท์กล่าวว่า ทีมที่ปรึกษาของโครงการฯ ได้เข้ามาช่วยดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่จนทุกอย่างประสบความสำเร็จ เริ่มตั้งแต่จัดโครงสร้าง QA/QC และแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบในการตรวจสอบคุณภาพอย่างชัดเจน อาทิ การทำแบบฟอร์มมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพตามระบบ AQL 2.5 มาใช้บันทึกการตรวจสอบคุณภาพ รวมถึงบุคลากรตรวจสอบคุณภาพทุกกระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่แผนกตรวจสอบคุณภาพผ้า แผนกตรวจชิ้นงานตัด แผนกตรวจสอบคุณภาพงานเย็บในระหว่างการผลิต (QA Inline) จนถึงการตรวจสอบคุณภาพเสื้อผ้าสำเร็จรูป (QC Final/End line) ได้นำองค์ความรู้จากการเข้ารับการอบรมมาเป็นแนวทางปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพงานอย่างมีระบบมาตรฐานและมีความชำนาญขึ้น

“ที่สำคัญยังได้มีการปรับปรุงการวางแผนไลน์ผลิตให้เป็นการไหลแบบต่อเนื่อง ทำให้การผลิตมีความราบรื่น ลดปัญหาความสูญเปล่า (Waste in process) รวมถึงการใช้ระบบ Traffic Light System ติดตั้งสัญลักษณ์แจ้งสถานะ การตรวจสอบในแต่ละขั้นตอนการเย็บ และการบันทึกการตรวจสอบ โดยสัญลักษณ์ป้ายสีเขียว หมายถึง คุณภาพผ่าน (Approve) สัญลักษณ์ป้ายสีแดง หมายถึง คุณภาพไม่ผ่าน (Rejected) และสัญลักษณ์ป้ายสีเหลือง หมายถึง ปรับปรุง (Improve)”

จากระบบ QA Inline เมื่อตรวจงานในการเย็บ ขั้นตอนใดพบว่าไม่ผ่านจะตั้งป้ายสีเหลือง และแนะนำพนักงานเย็บงานให้ถูกต้อง สวยงาม และย้อนกลับมาตรวจสอบใหม่ ถ้าผ่านจะเปลี่ยนเป็นป้ายสีเขียวพร้อมคำชื่นชม ดังนั้นทาง QA Inline จะพยายามหลีกเลี่ยงการตั้งป้ายสีแดง เพราะเกรงจะกระทบถึงความรู้สึกที่ไม่ดี และขาดกำลังใจ

“เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม CF แล้วปรากฏว่าคุณภาพของงานได้รับการพัฒนาดีขึ้นมาก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้สูงถึง 37.20% จากการแก้ไข หรือป้องกันข้อบกพร่องของงาน ตั้งแต่จุดเริ่มต้น การตรวจสอบผ้า ชิ้นส่วนงานก่อนเย็บประกอบตัว มีผลทำให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปมีความถูกต้องและสวยงาม เปอร์เซ็นต์ของการขาดส่งงานลดลง สามารถส่งได้เต็มจำนวนและทำให้ลดต้นทุนจากการขาดส่ง” ธัญนันท์กล่าวทิ้งท้าย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น