กสอ. ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ และซีเอสล็อกซอินโฟ พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ “ERP by DIP” ช่วย SMEs บริหารธุรกิจอย่างง่าย ระบุเปิดให้ใช้งานฟรี 1 ปีแรก ตั้งเป้าส่งเสริม SMEs ใช้ระบบดังกล่าวจำนวน 100 กิจการ คาดลดต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า จากการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันโดยการนำระบบไอทีมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าระบบ Enterprise Resource Planning หรือ ERP เป็นชุดโปรแกรมเบื้องต้นที่จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถทำงานอย่างเป็นระบบและยกระดับการพัฒนาได้เป็นอย่างดี
ทว่า เนื่องจากที่ผ่านมาระบบนี้จะมีราคาค่อนข้างสูงทำให้มีเพียงบริษัทใหญ่ๆ ที่มีต้นทุนการดำเนินการสูงเท่านั้นที่จะยอมลงทุน แต่ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจ SMEs กลับต้องเลือกใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะด้านขนาดเล็ก ดังนั้น กสอ.จึงได้จัดตั้งโครงการ ระบบซอฟต์แวร์ ERP by DIP สำหรับ SMEs ไทยขึ้น ภายใต้โครงการ “ดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs)” โดยร่วมมือกับวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะรับผิดชอบด้านการบริหารโครงการ การจัดหาซอฟต์แวร์ ERP ที่เหมาะสมมาปรับแต่งให้เข้ากับธุรกิจ SMEs ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจปกติ รวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง โดยจัดอบรมผู้ประกอบการ และอื่นๆ โดยมีบริษัท ซีเอสล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) ดูแลทางด้านการเป็นศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือ Data Center จัดระบบให้ซอฟต์แวร์ ERP นี้เข้าสู่ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ที่จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่ต้องติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ ลงโปรแกรม และดูแลอุปกรณ์เครือข่ายเอง โดยในปีแรกจะใช้งบประมาณสนับสนุนประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อมีระบบ ERP ให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กได้ใช้งานโดยไม่คิดมูลค่า
นายอาทิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบซอฟต์แวร์ ERP by DIP สำหรับ SMEs ไทย ที่จะให้กลุ่ม SMEs เข้ามาใช้ฟรีในโครงการนี้จะประกอบด้วย ระบบการซื้อ-ขาย, ระบบงานผลิตสินค้า, ระบบบัญชี, ระบบการจ่ายชำระ รวมถึงระบบการจัดเก็บเอกสาร เป็นภาพรวมระบบที่ใช้ในการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม หรืออีกนัยหนึ่งคือ ช่วยการบริหารเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดของทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรผ่านการบูรณาการ (Integrate) เข้าด้วยกันและสามารถเชื่อมโยง ณ เวลานั้นทันที (Real Time) ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งแต่ละ SMEs สามารถเลือกใช้ระบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของธุรกิจตนเองในขณะนั้นได้ ซึ่งเมื่อธุรกิจได้ทดลองใช้ซอฟต์แวร์ในโครงการแล้วต้องการจะเข้าสู่ระบบ ERP แบบเต็มที่มีจำหน่ายในตลาดปัจจุบันก็สามารถถ่ายโอนข้อมูลจากโครงการไปใช้งานได้ทันที เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดถูกออกแบบมาให้เป็นระบบเปิดสามารถใช้งานกับโปรแกรมทั่วไปได้ทันที
สำหรับแผนงานในปีต่อไปนั้น กสอ.ยังจะคงร่วมมือกับพันธมิตรทำโครงการนี้ต่อไป และจะมีการเพิ่มจำนวน SMEs ที่จะเข้ามาใช้งานโปรแกรม ERP เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่ 150 ราย พร้อมการเพิ่มกิจกรรมพิเศษสำหรับรายที่ต้องการใช้โปรแกรมดังกล่าวในแบบก้าวหน้าและมีการนำโปรแกรมไปปรับแต่งให้เหมาะสมกับกิจการตัวเองมากขึ้น หรือการ Customize โดยจะมีที่ปรึกษามาอบรมและเขียนโปรแกรม ซึ่งผู้ที่จะใช้บริการในส่วนนี้อาจเป็นทั้งรายเก่าที่เข้ามาใช้งานในปีนี้หรือรายใหม่เพิ่งจะเข้ามา ซึ่งจะช่วยให้ SMEs ไทยสามารถใช้ระบบไอทีมาใช้งาน โดยเสียค่าใช้จ่ายที่ยอมรับได้เฉลี่ยรายละ 30,000 บาท
ทั้งนี้ จะเปิดให้ใช้ระบบซอฟต์แวร์ ERP by DIP ฟรีในปีแรกสำหรับ SMEs ไทย จำนวน 100 ราย ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการกว่า 60 รายเข้าร่วมในโครงการแล้ว คาดว่าจะสามารถลดช่วยต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท
ผศ.ดร.จิรพล สังข์โพธิ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและวิจัย วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าววิทยาลัยนวัตกรรมได้จัดหาซอฟต์แวร์ ERP ที่เหมาะสมกับกลุ่ม SMEs ขนาดเล็กมาดำเนินการ เนื่องจากกลุ่ม SMEs ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้งาน ERP ในภาคปกติที่มีราคาแพงได้ และ ERP ในปัจจุบันที่ใช้งานบนคลาวด์คอมพิวติ้งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากการเขียนโปรแกรมต้องทำให้เป็นระบบเปิด สามารถโอนถ่ายข้อมูลไปยังระบบอื่นได้ โดยทำงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดังนั้น สถาปัตยกรรมที่วิทยาลัยนวัตกรรมนำมาใช้จึงต้องสร้างให้ตรงตามมาตรฐาน และต้องออกแบบให้ผู้ที่ไม่เคยใช้ ERP สามารถเข้ามาใช้งานได้ง่ายดายที่สุดไม่มีความซับซ้อน และต้องหาระบบคลาวด์คอมพิวติ้งที่เชื่อใจได้ มีความเสถียรให้แก่ผู้ใช้งานมากที่สุด และจะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้ไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถปรับแต่งเพื่อใช้งานเฉพาะองค์กรได้ในอนาคต
นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอสล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในโครงการนี้ต้องการระบบบริการด้านคลาวด์คอมพิวติ้งแบบครบวงจร โดยที่มีผู้ใช้งานระบบซอฟต์แวร์ตลอดเวลาถึง 100 ราย และเป็นระบบที่ต้องสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการล่มเนื่องจากเป็นซอฟต์แวร์ภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการประกอบการโดยตรง ดังนั้นซีเอสล็อกซอินโฟจะใช้ศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 3 แห่งเป็นฐานทั้งที่อาคารไซเบอร์เวิร์ลด, อาคาร CAT Telecom Tower, อาคารเดอะคลาวด์ (The Cloud) ซึ่งมีพื้นที่เกือบ 2,000 ตารางเมตร และยังมีพื้นที่สำนักงานสำรองหากเกิดภาวะวิกฤต (Disaster Recovery site) ส่วนระบบความปลอดภัยของข้อมูลทางด้านผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งนั้นมีมาตรฐานสากล ISO 9001 เรื่องการจัดการคุณภาพในการให้บริการ พร้อมทั้ง ISO 27001 มาตรฐานเกี่ยวกับระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และ ISO20000 มาตรฐานระบบการจัดการบริการด้านไอที ทำให้ผู้ประกอบการสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลของผู้ประกอบการจะไม่สูญหายหรือถูกคัดลอกแต่อย่างใด
ทั้งนี้ โครงการ “ดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs)” นี้เป็นการขานรับนโยบายยุคดิจิตอลอีโคโนมี ผ่าน 5 แผนงาน อันได้แก่ 1. ผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิตอล (New Digital Entrepreneur) 2. SMEs อัจฉริยะ (Intelligence SMEs) 3. ดิจิตอลเพื่อวิสาหกิจชุมชน (Digital OTOP) 4. สังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยดิจิตอล (Digital Knowledge Society) 5. ที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ (Cyber Service Provider) ซึ่งผลการดำเนินงานทั้ง 5 กิจกรรมนี้สามารถผลักดันและส่งเสริมให้ SMEs ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Digital ในการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *