xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง! “เขต ศก.พิเศษแม่สอด” โตฉลุย โอกาสทองสินค้าไทยบุกพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดแนวโน้มค้าชายแดนเติบโตสูงจากการส่งเข้าตลาดพม่า ระบุปัจจัยเอื้อทั้งด้านแรงงาน และสิทธิบีโอไอ คาดมูลค่าส่งออกสินค้าจากไทยจะโตเฉลี่ยร้อยละ 18-20 ต่อปีในช่วงปี 2560-2565 แนะเป็นโอกาสทองสำหรับ SMEs ไทยขยายตลาดต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยบทความเรื่อง “เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ... ทางเลือกเพิ่มเติมของกิจการที่อยากลงทุนในเมียนมา” โดยระบุว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด (แม่สอด SEZ) ถือเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดจากศักยภาพทางเศรษฐกิจและพรมแดนที่เชื่อมต่อกับพม่า เห็นได้จากความสำคัญที่ทวีมากขึ้นของแม่สอดในฐานะด่านการค้าชายแดนที่มีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกชายแดนทั้งหมดของไทยในปี 2557 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.7 ในปี 2554

ทั้งนี้ ศักยภาพของแม่สอด SEZ มาจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับกิจการที่นำเข้าวัตถุดิบหรือส่งสินค้าไปจำหน่ายในพม่า ตลอดจนกิจการที่ต้องการใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งได้รับการยกระดับให้สะดวกยิ่งขึ้นผ่านการผ่อนผันกฎเกณฑ์ด้านนโยบายแรงงานที่อนุญาตให้กิจการในแม่สอด SEZ สามารถใช้แรงงานแบบไป-กลับได้ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในรูปแบบของการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมไปถึงการยกเว้นอากรขาเข้าและค่าใช้จ่ายที่อนุญาตให้หักเพิ่มเติม (Double tax-deductible expense) โดยกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กิจการเป้าหมายของ กนพ. ซึ่งครอบคลุมกิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้น และ 2) กิจการที่อยู่ในข่ายการส่งเสริมการลงทุนของ BOI นอกจากนี้ กิจการปกติที่ไม่สามารถยื่นขอสิทธิประโยชน์จาก BOI ยังคงได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกรมสรรพากร

ด้วยศักยภาพและสิทธิประโยชน์ดังกล่าวย่อมทำให้แม่สอด SEZ กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะเอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานเข้มข้นในการผลิต โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมในไทยที่ต้องการขยายตลาดเป้าหมายไปยังพม่า แต่ยังไม่พร้อมรับความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ และไม่มีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic partner) ใน CLMV

ทั้งนี้ กิจการที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดดำเนินงานของแม่สอด SEZ สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กิจการดั้งเดิมในพื้นที่ กิจการที่สามารถดำเนินงานได้ทันที และกิจการที่มีศักยภาพ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังพม่าผ่านด่านแม่สอดจะสามารถขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 18-20 ต่อปี ในช่วงปี 2560-2565 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการจัดตั้ง SEZ ซึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้าคงสามารถขยายตัวได้เพียงร้อยละ 10-12 ต่อปี

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาแม่สอด SEZ ในระยะข้างหน้าต้องมีการบูรณาการควบคู่ไปกับพัฒนาการของเมียวดีเพื่อสร้าง cluster ทางเศรษฐกิจใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น