xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์หวั่น ศก.โลกทรุดกระทบ SME แนะผู้ส่งออกเรียกเงินมัดจำประกันความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

    นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
แบงก์ชี้ปัญหาเศรษฐกิจโลก และไทยชะลอตัวเริ่มส่งผลกระทบเอสเอ็มอี ทำการค้าต่างประเทศชะลอชำระค่างวดสินเชื่อ แนะผู้ส่งออกเช็กประวัติคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมวิธีป้องกันความเสี่ยงด้วยการเรียกเงินมัดจำ 30-50% หรือทำประกันภัยสินเชื่อทางการค้า หวั่นเศรษฐกิจโลกฉุดยอดส่งออกทรุด

นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น สะท้อนจากคู่ค้าบางรายชำระค่างวดสินเชื่อล่าช้าจากปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการสอบถามของธนาคารพบว่าการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจส่งผลกระทบลามเป็นลูกโซ่ ที่ผ่านมาจึงเห็นการขอยืดระยะเวลาการชำระค่าสินค้า (เครดิตเทอม) ระหว่างกันเพิ่มขึ้นบ้าง จากที่เคยให้ 90 วัน ก็ขอเพิ่มเป็น 120-135 วัน หรือบางรายขอลดออเดอร์ (คำสั่งซื้อ) ทั้งล็อตใหม่และล็อตเก่าลงกะทันหัน บางรายก็ยกเลิกทั้งหมด ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กัน เช่น คู่ค้ามีสภาพคล่องตึงตัว บางรายอ้างสินค้าที่ส่งไปไม่ได้มาตรฐานทั้งที่ค้าขายกันมานาน เป็นต้น

“คู่ค้าต่างประเทศที่มีปัญหานั้นกระจายวงกว้างในหลายประเทศ ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า และประเทศที่คู่ค้าตั้งอยู่ เช่น ประเทศในฝั่งยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศ ส่วนสินค้าก็มีทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารทะเล เป็นต้น” นายจิรัชยุติ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แบงก์มีคำแนะนำว่าผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยต้องวิเคราะห์คู่ค้าให้ชัดเจนว่ามีความมั่นคงทางการเงินเพียงใด และมีความสามารถชำระค่าสินค้าหรือไม่ โดยคู่ค้ารายใหม่หรือตลาดใหม่ๆ อาจต้องเพิ่มเงื่อนไขการชำระเงิน เช่น ทำสัญญาขอมัดจำค่าสินค้าก่อนอย่างน้อย 30-50% ของราคารวม หรือระหว่างผลิตอาจต้องขอมัดจำเพิ่มเป็นระยะๆ ส่วนกรณีลูกค้าเก่าต้องตรวจสอบข้อมูลทางการค้าเป็นระยะๆ หรืออาจปิดความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น ผ่านการทำเครดิตการันตี หรือทำ L/C (Letter of Credit) เพื่อประกันว่าผู้ขายจะได้รับเงินค่าสินค้าครบถ้วน และผู้ซื้อจะได้สินค้าตามสั่ง เป็นต้น

นายจารพัฒน์ พานิชยิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายรับประกันการส่งออก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า การป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศด้วยการทำประกันภัยสินเชื่อทางการค้ามีตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าประกันภัยสินเชื่อทางการค้าก็ไม่ได้ขยับตัวมากนัก พบว่าลูกค้ารายใหญ่มีมูลค่าทำประกันภัยสินเชื่อทางการค้า 70% เอสเอ็มอี 30% ของมูลค่าสินค้า

ขณะที่อัตราความเสียหายต่อเบี้ยประกันภัย (ลอสเรโช) ขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรมและความเสี่ยงของประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลต่อราคาเบี้ยประกันภัยที่แตกต่างกัน โดยเบี้ยเริ่มต้นที่ 0.1% ขึ้นไป

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น