xs
xsm
sm
md
lg

“สุขขี แฮนดิคราฟท์” ต้นตำรับเนรมิต “เถาวัลย์” สุดอลังการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กว่า 35 ปีมาแล้วในการเป็นผู้นำด้านการผลิตเครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุ “เถาวัลย์” จาก “รุ่นพ่อ” เป็นผู้บุกเบิก สร้างให้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศรวมถึงขยายสู่ตลาดส่งออก ต่อยอดสู่ “รุ่นลูก” เข้าเสริมความโดดเด่นด้วยการเติมดีไซน์แปลกใหม่ ในแบรนด์ “สุขขี แฮนดิคราฟท์” (Sukkee Handicraft) ช่วยให้ธุรกิจยืนหยัดมาถึงปัจจุบัน ท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ศิริวรรณ สุขขี ทายาทผู้ดูแลธุรกิจในปัจจุบัน
ศิริวรรณ สุขขี ทายาทผู้ดูแลธุรกิจในปัจจุบัน เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นอาชีพนี้ต้องย้อนกลับไปประมาณเมื่อปี พ.ศ. 2523 ซึ่งเวลานั้นคุณพ่อ (สลัด สุขขี) ยังรับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่อบรมและฝึกวิชาชีพให้ผู้ต้องขัง เรือนจำชั่วคราวเขาบิน จ.ราชบุรี เลยมีความคิดอยากหาเศษวัสดุเหลือทิ้งตามธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อฝึกอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง จนวันหนึ่งไปนอนเล่นใต้ต้นไม้ แล้วเห็นนกกำลังสร้างรังโดยใช้เศษเถาวัลย์ชิ้นเล็กๆ ค่อยๆ สานประกอบจนสำเร็จเป็นรังที่ทั้งสวยงามและแข็งแรง จุดประกายความคิดให้คุณพ่ออยากใช้วัสดุเถาวัลย์มาทดลองทำเป็นเครื่องใช้ต่างๆ ดูบ้าง
สลัด สุขขี  ผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์จากเถาวัลย์
“คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า เริ่มคิดค้นทดลองนำเถาวัลย์ทำเครื่องใช้ต่างๆ โดยวิธีจักสาน เพื่อจะไปฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขัง และชาวบ้านเพื่อสร้างรายได้ โดยตั้งเป็นกลุ่มอาชีพทำผลิตภัณฑ์จากเถาวัลย์แห่งแรกในประเทศไทย ที่ ต.พงสวาย อ.เมือง จ.ราชบุรี มีสมาชิกเบื้องต้นประมาณ 15 คน จากนั้นก็ลองนำสินค้าตัวอย่าง “กระเช้า” ทรงคล้ายรังนกและใส่หูโค้งสำหรับหิ้วทำจากเถาวัลย์แดง ไปเสนอแก่บริษัทส่งออกสินค้าไปต่างประเทศแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าได้ออเดอร์มาเป็นหมื่นชิ้น ซึ่งถือว่าจำนวนสูงมากสำหรับเราในเวลานั้น คุณพ่อเลยลาออกจากราชการเพื่อมาประกอบอาชีพนี้อย่างเต็มตัว” ทายาทธุรกิจเล่าถึงจุดกำเนิดของ “สุขขี แฮนดิคราฟท์” เมื่อกว่า 35 ปีที่แล้ว

ด้วยความเป็นสินค้าแปลกใหม่ของตลาดในเวลานั้น ทำให้ตลาดต่างประเทศตอบรับดีมาก ยอดสั่งสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ และมีการพัฒนาให้หลากหลายนับพันๆ รูปแบบ รวมถึงขยายกำลังผลิต โดยเพิ่มจำนวนสมาชิก และยังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาทำการพัฒนาสายพันธุ์เถาวัลย์ และขยายพันธุ์เถาวัลย์โดยแจกจ่ายให้สมาชิกและประชาชนในชุมชนนำไปปลูก เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนเถาวัลย์ขึ้นเองตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ ผลงานเครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์จากเถาวัลย์ของผู้ประกอบการรายนี้ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพมามากมาย เช่น โอทอป 5 ดาว รางวัลผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่น (Prime Minister’s Export Award หรือ PM Export Award) ในปี ค.ศ. 2004 และ 2011 ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของรัฐบาลที่มอบให้แก่ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไทยในตลาดโลก

ขณะที่การมารับช่วงสานต่อธุรกิจนั้น ศิริวรรณเล่าว่า คลุกคลีช่วยงานคุณพ่อมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ส่วนการเข้ามาสานธุรกิจต่อเต็มเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว หลังเรียนจบมาด้านการออกแบบ สิ่งที่เข้ามาเสริมชัดเจนที่สุดคือ เรื่องการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น จากเดิมจะเป็นงานกระเช้าเสียเป็นส่วนใหญ่ เพิ่มเติมมาสู่งานของแต่งบ้าน เช่น โคมไฟ และของแต่งสวน เป็นต้น นอกจากนั้น ในอดีตจะใช้วัสดุเถาวัลย์ล้วนๆ ก็ได้เพิ่มเติมนำวัสดุอื่นๆ มาผสมผสาน เช่น กะลามะพร้าว เหล็ก วัชพืชต่างๆ และที่สำคัญเครื่องปั้นดินเผา โดยเฉพาะ “โอ่ง” สัญลักษณ์ประจำ จ.ราชบุรี
รีสอร์ต “ดินเผาเถาวัลย์” ใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
“ในการออกแบบดิฉันจะมองที่ทุนทางวัฒนธรรมที่เรามีอยู่แล้วมาขยายตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น รวมถึงนำข้อเสนอแนะของลูกค้ามาพัฒนาปรับปรุงสินค้า อย่างเช่นงานโอ่งเถาวัลย์ เป็นไอเดียจากลูกค้าที่แนะนำว่า บ้านเกิดของคุณอยู่ที่ จ.ราชบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องโอ่งน่าจะมาผสมกับงานเถาวัลย์นะ เราก็เลยได้ไอเดียมาพัฒนาสินค้า ซึ่งพยายามทำให้ตรงกับวัฒนธรรมและความต้องการลูกค้าแต่ละรายด้วย อย่างเช่นเราทำโอ่งเถาวัลย์เป็นน้ำพุแต่งสวนเพื่อขายตลาดญี่ปุ่น เพราะชาวญี่ปุ่นนิยมแต่งสวนมาก ซึ่งสินค้านี้ได้รับการตอบรับดีมาก และขายได้ราคาสูงกว่าทำเป็นกระเช้าหลายเท่าตัว” ศิริวรรณเล่า

อีกสิ่งสำคัญในการปรับตัวหลังเข้ามาสานธุรกิจนั้น เธอบอกว่า หันมาสร้างแบรนด์ “สุขขี แฮนดิคราฟท์” (Sukkee Handicraft) เพื่อที่วางตำแหน่งสินค้าย้ายจากตลาดล่างไปสู่ตลาดบน และหลีกหนีการแข่งขันเรื่องสงครามราคา โดยเฉพาะจากคู่แข่งสำคัญ คือ ประเทศ “จีน” ที่สามารถผลิตสินค้าได้ในต้นทุนต่ำกว่ามาก

“เดิมเราจะทำงานรับจ้างผลิตส่งออกต่างประเทศ 100% ไม่มีขายในประเทศไทยเลย แต่ในช่วงประมาณ 7-8 ปีให้หลังที่ผ่านมาคู่แข่งเพิ่มจำนวนขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งเขาทำได้ในราคาต้นทุนที่ถูกกว่าเรามากๆ เช่น กระเช้าของขวัญ ของเราส่งชิ้นละ 70 บาท แต่จีนสามารถส่งได้ในราคาชิ้นละ 17 บาท ดังนั้นถ้าจะแข่งกันที่ปริมาณและราคาถูกเราไม่มีทางสู้ได้เลย ดังนั้น แนวทางที่เราปรับตัวหันมาทำงานดีไซน์ ผลิตในปริมาณน้อยลง ใช้วัสดุน้อยลง แต่ขายได้มูลค่าสูงขึ้น” ศิริวรรณกล่าว และเล่าต่อว่า

ในส่วนการทำตลาด จากเดิมรับจ้างผลิต OEM 100% เพื่อการส่งออกเท่านั้น ได้หันมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง คือ “สุขขี แฮนดิคราฟท์” เพื่อจะขายในตลาดบน รวมถึง หันมาทำตลาดในประเทศมากยิ่งขึ้น เจาะลูกค้านิยมของตกแต่งบ้าน ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าแบ่งเป็นในประเทศประมาณ 30% และส่งออก 70% เช่น ยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มัลดีฟส์ เป็นต้น และเป้าหมายในอนาคตอยากจะให้มีสัดส่วนระหว่างในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงขายภายใต้แบรนด์ตัวเองอยู่ที่ 50-50% ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน

“สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถยืนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ สิ่งสำคัญดิฉันเชื่อว่าอยู่ที่การรักษาคุณภาพจนลูกค้าเกิดความไว้วางใจ ควบคู่กับเรามีดีไซน์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดการพัฒนา แม้ว่าทุกวันนี้คู่แข่งจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แต่ลูกค้ารายเดิมๆ ที่ค้าขายกันมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อก็ยังไว้ใจเรา เพราะรู้ดีว่าเราให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมาก และก็มีดีไซน์ใหม่มานำเสนอสม่ำเสมอ” ศิริวรรณกล่าว

นอกจากนั้น อีกแผนธุรกิจที่น่าสนใจของเอสเอ็มอีรายนี้คือ สร้างธุรกิจใหม่โดยอาศัยทุนจากธุรกิจเดิมเป็นพื้นฐาน ด้วยการเปิดรีสอร์ต ชื่อ “ดินเผาเถาวัลย์” ใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งประโยชน์ของรีสอร์ตแห่งนี้ ประการแรกทำหน้าที่เป็นโชว์รูมแสดงสินค้าต่างๆ เปิดให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเข้าเยี่ยมชมสินค้าและกระบวนการผลิต ประการต่อมา ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยว และขายสินค้า โดยเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ทุกชิ้นภายในรีสอร์ต ลูกค้าหรือแขกเข้าพักสามารถซื้อกลับไปได้ทันที

และเร็วๆ นี้เตรียมจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็น “ปุ๋ย” ป้องกันแมลงทำจากเศษเถาวัลย์ เนื่องจากเถาวัลย์ที่พัฒนาขึ้นมีคุณสมบัติพิเศษแข็งแรง และเหนียวจนมอดและแมลงกัดกินไม่เข้า จึงได้แนวคิดจะนำเศษเถาวัลย์ที่เหลือจากการผลิตสินค้าต่างๆ มาปนผสมทำเป็นปุ๋ย ช่วยเสริมรายได้และใช้วัสดุให้คุ้มค่าที่สุด

ศิริวรรณยอมรับว่าปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจสูงมาก อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสที่คนยุคนี้หันกลับมาให้ความสำคัญเรื่องธรรมชาติ ช่วยให้งานเถาวัลย์ดีไซน์ยังคงดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนตัวผู้ประกอบการต้องพยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วย
ศิริวรรณ (ซ้าย) และสลัด สุขขี  ส่วนตรงกลางน้องกระเช้า ว่าที่ทายาทธุรกิจรุ่น 3
“แนวทางที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะภาคการส่งออกควรให้ความสำคัญ ดิฉันมองที่การลดความเสี่ยงทางธุรกิจ อย่างของเราเองจากเดิมจะส่งออกผ่านตัวแทนไม่กี่ราย ไม่กี่ประเทศ และมีสินค้าแค่ประเภทเดียว ทุกวันนี้เราก็พยายามกระจายกลุ่มลูกค้าและตลาดให้มากที่สุด พยายามดูแลลูกค้าเดิมควบคู่กับหาลูกค้าใหม่ และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้มีความโดดเด่นเสมอ” เจ้าของธุรกิจระบุ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น