ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยมูลค่า CLM โตต่อเนื่องสวนทางการค้าระหว่างประเทศโดยรวม แนะผู้ประกอบการอย่ามองข้าม หวังลดความเสี่ยงธุรกิจท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูล “การค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนการเกิดขึ้นของห่วงโซ่การผลิตภายในภูมิภาค และพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง” พบมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ CLM ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยโดยรวมที่มีการหดตัวลง ทำให้ผู้ประกอบการควรหันมามองหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้การค้าระหว่างไทยกับ CLM เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความพยายามในการเปิดประเทศ และการเข้ามาของเงินลงทุนจากต่างประเทศของประเทศคู่ค้า รวมไปถึงการเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อย่างสมบูรณ์ และการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน (AEC) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในปี 2558 มูลค่าการค้าของไทยกับ CLM จะขยายตัวร้อยละ 4.6 จำแนกเป็นการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 3.7
สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น สะท้อนการสร้างห่วงโซ่การผลิตระดับอนุภูมิภาค โดยไทยใช้ประโยชน์จากแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำ มาประกอบกับความสามารถในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นซับซ้อนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก สำหรับสินค้าส่งออกจากไทยไปยังประเทศเหล่านี้ ก็ได้รับผลบวกจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ทั้งในมิติของการขยายตัวและโครงสร้างสินค้าที่เน้นไปที่สินค้าอุปโภคบริโภคซับซ้อน สินค้าขั้นกลางและวัสดุก่อสร้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าบางประเภทอาจชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของ AEC คือการเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วมของประเทศสมาชิก ซึ่งในฐานะที่ไทยตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางของภูมิภาค ทำให้การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนแรงงานและทรัพยากรที่ต่ำ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษาความสามารถทางการแข่งขันของไทยที่เริ่มเสื่อมถอยลงจากต้นทุนแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การเชื่อมโยงภายในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งในแง่ของระบบการคมนาคมขนส่ง และการกำจัดอุปสรรคทางด้านการค้าระหว่างกัน จะสนับสนุนการเกิดห่วงโซ่การผลิตระดับอนุภูมิภาค ซึ่งมีไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและขยายฐานการผลิต/การลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามแนวพรมแดนที่ติดกับไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงทางด้านการเมือง ความไม่พร้อมของสาธารณูปโภค ตลอดจนขนาดของตลาดใน CLM ที่อาจยังไม่ใหญ่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจไปลงทุนในประเทศเหล่านี้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *