หนองคาย - รมว.มหาดไทยตรวจความพร้อมหนองคาย ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมหนุนเอกชนเร่งตั้งนิคมอุตสาหกรรมรองรับเส้นทางรถไฟจากจีน มั่นใจผลักดันเศรษฐกิจหนองคายโตมหาศาล ขณะที่หนองคายดัน 5 อำเภอพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ วางเป้าหนองคายเป็นศูนย์กลางตลาดค้าส่ง ค้าปลีกระหว่างประเทศ ลอจิสติกส์ และการท่องเที่ยว
วันนี้ (25 มี.ค. 58) ที่สถานีรถไฟหนองคาย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะลงพื้นที่ตรวจเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดหนองคาย โดยมีนายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย, นายวัฒนา คงมั่น ผู้อำนวยการศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือการรถไฟแห่งประเทศไทย นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูล
จากนั้นได้นั่งรถไฟระหว่างประเทศเดินทางจากสถานีรถไฟหนองคายไปยังกลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว พิจารณาพื้นที่จัดสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงคู่ขนานกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 และนั่งรถไฟกลับมายังสถานีรถไฟนาทา อ.เมืองหนองคาย ชมจุดที่มีการจัดสรรพื้นที่สำหรับการตั้งคอนเทนเนอร์ยาร์ด และจุดกระจายสินค้า
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดหนองคายน่าจะมีความพร้อมแล้ว ทั้งพื้นที่ของจังหวัดและพื้นที่การรถไฟฯ ส่วนเส้นทางเชื่อมต่อจากลาวมายังหนองคายเพื่อเชื่อมต่อไปแก่งคอยก็ใช้เส้นทางนี้ ที่ดินทั้งหมดไม่มีการบุกรุกน่าจะทำได้สะดวก
ถ้าโครงการเริ่มไม่น่ามีปัญหา โดยการบริหารจัดการของจังหวัดหนองคายจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดดูแล และนิคมอุตสาหกรรมที่ทางภาคเอกชนและการนิคมอุตสาหกรรมดูแล ซึ่งจัดเตรียมพื้นที่ไว้ในเขต อ.สระใคร พิจารณาแล้วหากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพร้อมน่าจะดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ หากนิคมอุตสาหกรรมเดินหน้าได้ดี ประกอบกับเส้นทางรถไฟขนาดมาตรฐานเสร็จ คอนเทนเนอร์ยาร์ดจะมีส่วนสำคัญมาก แต่ถ้าเพียงแค่ส่งผ่านสินค้าจะไม่คุ้มค่า
“ควรเร่งให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่หนองคาย เพราะขณะนี้นครหลวงเวียงจันทน์มีความพร้อม เส้นทางรถไฟจากจีนเชื่อมมายังลาว และเข้าหนองคายจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทั้งการสัญจรข้ามแดน การขนส่งสินค้าปริมาณจะมากขึ้นแน่นอน หากรอให้ทางรถไฟเสร็จแล้วค่อยทำเขตเศรษฐกิจพิเศษจะไม่ทันการณ์ อาจไม่เกิดผลใน 2-3 ปีนี้ แต่เมื่อจีนก้าวมาถึงลาวแล้วจะเห็นผลได้ทันที” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
ส่วนความกังวลของภาคเอกชนที่มองว่านิคมอุตสาหกรรมจะมีทั้ง จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย นั้น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหา การมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งจะเป็นการดี ถ้ามีเฉพาะเมืองใหญ่แรงงานจะกระจุกตัว ดังนั้น ควรสร้างงานในพื้นที่ดีกว่า การที่หนองคายอยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแรงงานสำคัญอาจเป็นตัวตัดสินให้ผู้ประกอบการยอมนำกิจการออกมาสู่ภูมิภาคมากขึ้น ทำให้ต่างจังหวัดมีความเจริญมากขึ้นด้วย
ด้านนายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีมติเห็นชอบให้จังหวัดหนองคายเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 เพิ่มเติม ในปี 2558 ทางจังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 5 คณะ มีการจัดเตรียมพื้นที่จัดตั้งทั้งในพื้นที่อำเภอเมือง ตำบลที่ติดกับแนวชายแดน สปป.ลาว จำนวน 5 อำเภอ 22 ตำบล คือ อ.เมืองหนองคาย 12 ตำบล, อ.สระใคร 1 ตำบล, อ.โพนพิสัย 3 ตำบล, อ.ท่าบ่อ 3 ตำบล และ อ.ศรีเชียงใหม่ 3 ตำบล เนื้อที่รวม 559,614 ไร่
โดยจัดเตรียมพื้นที่สำหรับให้เอกชนเช่าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ อ.เมืองหนองคาย, อ.สระใคร และ อ.โพนพิสัย รวม 8 แปลง เนื้อที่ 5,417 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่มีการบุกรุก ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ และสามารถเวนคืนที่ดินได้ เป้าหมายต้องการให้จังหวัดหนองคายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในฐานะเป็นศูนย์กลางตลาดค้าส่ง ค้าปลีก และสินค้าระหว่างประเทศ เป็นครัวไทยสู่อาเซียน หัวใจสำคัญของระบบลอจิสติกส์ การคมนาคมขนส่งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และพัฒนาด้านการท่องเที่ยว
ส่วนการรองรับพื้นที่กระจายสินค้านั้น ทางสถานีรถไฟนาทาได้เตรียมพื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นคอนเทนเนอร์ยาร์ดไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการปลูกสร้างได้ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนของโครงการ และความพร้อมของทาง สปป.ลาว ในการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ