xs
xsm
sm
md
lg

วสท.ค้านแผนจัดการน้ำฉบับ คสช.! หลัง ครม.ไฟเขียว 5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จะจัดเสวนา “จุดยืนของนักวิชาการ วสท. ต่อ ร่างแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ฉบับ คสช.
วสท.ค้านแผนจัดการน้ำฉบับ คสช.! หลัง ครม.ไฟเขียว 5 หมื่นล้าน เตรียมแถลงจุดยืนของนักวิชาการ วสท.ต่อร่างแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ฉบับ คสช. (ฉบับละเลยความเห็นของประชาชน) ด้าน “ประยุทธ์” ย้ำใครจะล้มหรือแก้แผนก็แล้วแต่ ตอนนี้ทำเฉพาะที่มีเงินไปก่อนตามหลักความเร่งด่วน

วันนี้ (18 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จะจัดเสวนา “จุดยืนของนักวิชาการ วสท. ต่อร่างแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ฉบับ คสช.” (ฉบับละเลยความเห็นของประชาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็น ต่อแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ฉบับ คสช. (ฉบับละเลยความเห็นของประชาชน) เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ต่อร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำฉบับดังกล่าว และเพื่อนำเสนอแนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามหลักการทางวิศวกรรมที่ถูกต้องต่อ คสช. และคณะทำงาน โดยจะจัดงานในวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมอาคาร วสท. ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา 1)

รายงานระบุว่า มีการเปิดรายชื่อผู้เข้าร่วมเสวนาในวันนั้น เช่น นายปราโมทย์ ไม้กลัด และรศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ที่ปรึกษาอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. และที่ปรึกษาคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คสช., รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท., รวมถึงคณาจารย์ด้านทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม สถาบันการศึกษาชื่อดังหลายแห่ง

รายงานข่าวระบุว่า ในวันนี้ (18 ก.พ.) ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเสนองบประมาณกลางเพื่อดำเนินการตามแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วนประจำปี 2558

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติตามแผนงานดังกล่าว แต่ตนเสนอว่าต้องใช้การบูรณาการเชื่อมต่อทุกกระทรวง ดังนั้นเม็ดเงินที่เหลือจากงบฯปี 57 และปี 58 จะนำมาขออนุมัติในวงเงิน 50,000 กว่าล้านบาท โดยจะต้องปรับโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบันที่ขณะนี้แล้งมาก และในวันข้างหน้าต้องนำสถานการณ์น้ำที่เริ่มแล้งน้ำในแหล่งน้ำมีไม่ถึง 30% ไปดูว่าใน 77 จังหวัดมีที่ใดที่น้ำอุปโภคบริโภค ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน น้ำในไร่-นา น้ำบาดาลต้องนำมาคิดทั้งหมดและวางแผนยาวไปถึงปี 62-65 ที่จะต้องเดินตามแผนนี้

“ใครจะล้มหรือแก้แผนนี้ก็แล้วแต่ ตอนนี้เราทำเฉพาะที่มีเงินไปก่อนใช้ตามหลักความเร่งด่วน โดยให้หลายๆ กระทรวงมาทำด้วยกัน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำงบฯ มาคลี่ดูและนำงบฯ ลงพื้นที่ให้ทั่งถึง อย่างพื้นที่ที่มีปัญหาเร่งด่วนตอนนี้คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือที่เราต้องดูแลเพราะเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น จะไปกีดกันไม่ได้" นายกฯ กล่าว

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานตามแผนงาน โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอ เป็นทั้งโครงการระยะเร่งด่วน โครงการที่เห็นผลเร็วสามารถแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ชุมชนและสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่

ก่อนหน้า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบกลางประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน ภายในเวลา 1 ปี กว่า 1,700 โครงการ

ทางด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า นายกรัฐมตรีได้สั่งการแล้วว่าในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.นี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องช่วยกันดูแลเกษตรกรและชาวสวนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ที่สำคัญต้องไม่ให้ผลผลิตทางการเกษตรตาย โดยมีหลายมาตรการในการจัดการ เช่น กรมชลประทานระบายน้ำช่วยเหลือเกษตรกร แต่หากปริมาณน้ำไม่เพียงพอก็ต้องใช้น้ำจากบ่อบาดาลของ ทส. ซึ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทยนั้น จะนำรถสูบน้ำเข้าช่วยเหลือ โดยได้เน้นย้ำให้ดูแลประชาชนกลุ่มยากจนให้ดี และช่วยเหลืออย่างเต็มที่

นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนของบประมาณแก้ไขภัยแล้ง ยังจะใช้งบปกติที่มีอยู่ ยกเว้นเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ จึงจะขอรัฐบาล ขณะที่ตัวเลขจังหวัดที่ประสบภัยแล้งนั้น วันนี้อยู่ 15 จังหวัด ทางเราพยายามแก้ปัญหาอย่างดีที่สุดแล้ว และยืนยันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดและทุกหน่วยงานในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างสมบูรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น