สสว.เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอี ประจำเดือน ม.ค.58 ปรับลดทุกด้าน แจงเหตุ ศก.ชะลอตัว ผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย ภาคเอกชนเบรกลงทุน รวมถึง สินค้าเกษตรราคาตก ส่วนปัจจัยบวกราคาขายปลีกน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index: TSSI) ประจำเดือนมกราคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2557 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการลดลงอยู่ที่ 48.9 จากระดับ 53.6 (ลดลง 4.7) โดยภาคค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีอยู่ที่ 47.6 และ 50.3 จากระดับ 54.2 และ 54.8 (ลดลง 6.6 และ 4.5) ตามลำดับ ส่วนภาคค้าส่ง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 49.3 จากระดับ 49.1 (เพิ่มขึ้น 0.2) ส่วนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 53.3 และ 49.9 จากระดับ 69.4 และ 62.1 (ลดลง 16.1 และ 12.2)
สาเหตุสำคัญที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง มีผลมาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงหลังจากกระตุ้นไปมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโดยภาพรวมชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยต่างๆ ที่ปรับตัวลดลง อาทิ การลงทุนภาคเอกชน การอุปโภคบริโภค ภาคอุตสาหกรรม การส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงราคาพืชผลการเกษตร
เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 48.5 จากระดับ 50.2 (ลดลง 1.7) สอดคล้องกับดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนรวมถึงระดับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีราคาผลผลิตภาคการเกษตรลดลงร้อยละ 11.02 เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรปรับตัวลดลงร้อยละ 13.0 ภาคค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 50.8 จากระดับ 63.2 (ลดลง 12.4) โดยยอดจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 แก๊สโซฮอลล์ 91 E20 E85 และดีเซลหมุนเร็ว ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.7 2.2 7.8 20.8 และ 1.2 ตามลำดับ ภาคบริการ กิจการด้านการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชนค่าดัชนีลดลงในระดับสูงอยู่ที่ 55.3 และ 56.2 จากระดับ 60.0 และ 60.6 (ลดลง 4.7 และ 4.4) ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ารวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 44.9 จากระดับ 53.1 (ลดลง 8.2) เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนที่ค่าดัชนีลดลง
ส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคเดือน ม.ค.2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ธ.ค.2557 พบว่า ค่าดัชนีเกือบทุกภูมิภาคปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคใต้ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.6 จากระดับ 42.5 (เพิ่มขึ้น 5.1) สำหรับภูมิภาคที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 43.4 จากระดับ 53.1 (ลดลง 9.7) ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ค่าดัชนีอยู่ที่ 51.4 จากระดับ 61.0 (ลดลง 9.6) ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 54.9 จากระดับ 61.3 (ลดลง 6.4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 49.1 จากระดับ 55.0 (ลดลง 5.9) ในส่วนดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจโดยภาพรวม ยังมีปัจจัยเกื้อหนุนมาจากระดับราคาขายปลีกน้ำมันทั้งเบนซิน 95 และดีเซล ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 3.10 และ 1.80 บาทต่อลิตร ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวดีขึ้นโดยดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 นับจากเดือน มิ.ย.2557 และเป็นการลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นครั้งแรกในรอบ 64 เดือน ขณะที่การท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยในเดือน ม.ค.2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวน 2.65 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพิ่มขึ้น 84.08 จุด อยู่ที่ระดับ 1,581.25 จุด ณ สิ้นเดือน ม.ค.2558 ทั้งนี้ เชื่อว่าปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs ในระยะต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *