กสิกรไทยระบุธุรกิจโรงพิมพ์แบบดั้งเดิมอยู่รอดยาก ผลกระทบ ศก.ชะลอตัว พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนหันไปใช้ออนไลน์แทนสื่อสิ่งพิมพ์ แนะปรับตัวตามเทรนด์ยุคใหม่ให้ทัน เน้นบริการจำนวนน้อยและรวดเร็ว
โครงการ K SME Analysis ธนาคารกสิกรไทย เผยบทความหัวข้อ “ธุรกิจโรงพิมพ์” ... ถึงเวลาต้องปรับตัว ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด (Start-Up Business) โดยเนื้อหาระบุว่า ในยุคที่ผู้บริโภคมีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจ การทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ อย่างที่เคยทำมาในอดีตอาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันมากนัก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว
ทั้งนี้ ธุรกิจโรงพิมพ์ถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าธุรกิจโรงพิมพ์แบบดั้งเดิมเริ่มจะอยู่รอดยากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวตามปัจจัยเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกที่ยังไม่สดใสมากนัก ทำให้ธุรกิจโรงพิมพ์ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของธุรกิจการพิมพ์ได้รับผลกระทบตามไปด้วย นอกจากนี้ จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ลูกค้าต้องการอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ความรวดเร็วในการรับบริการ ความหลากหลายของสินค้า หรือแม้กระทั่งกระแสความนิยมของสื่อออนไลน์ที่เพิ่มบทบาทอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้มีการเพิ่มการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ทดแทนสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้นตามลำดับ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่าในระยะต่อไปผู้ประกอบการธุรกิจโรงพิมพ์ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงในตลาดเพื่อสร้างความอยู่รอดในอนาคต
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวอยู่เสมอ ก็คือ การติดตามข่าวสารแนวโน้มธุรกิจ กระแสหรือเทรนด์ที่ได้รับความนิยมที่อาจจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการของลูกค้า (เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ทันสมัย สะดวกและรวดเร็ว หรือผลิตภัณฑ์สำหรับงานพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น) เพื่อนำมาวางแผนรับมือ รวมถึงปรับปรุงพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันสถานการณ์ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่จะละเลยไม่ได้เลยก็คือ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เชี่ยวชาญในองค์กร ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพในการทำงาน และการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรเหล่านี้อยู่กับองค์กรไปในระยะยาว
สำหรับเทรนด์ธุรกิจที่กำลังเป็นที่สนใจในแวดวงโรงพิมพ์ก็คือ ความนิยมในระบบการพิมพ์แบบ Print on Demand ซึ่งเป็นระบบที่ลูกค้าสั่งพิมพ์งานในเวลาสั้นและมีจำนวนจำกัดตามที่ต้องการ ซึ่งด้วยจำนวนผลิตที่น้อยส่งผลให้การผลิตสิ่งพิมพ์ที่ต้องใช้ระบบออฟเซตที่มีคุณภาพมีต้นทุนสูง (ปกติต้องสั่งพิมพ์จำนวนมากจึงจะประหยัดต่อขนาดเช่น 1,000 เล่ม) ส่งผลให้มีการนำเอาระบบการพิมพ์แบบ Digital Printing ซึ่งไม่ต้องมีการถ่ายฟิล์ม ทำเพลต (การพิมพ์แบบไร้แม่พิมพ์ ซึ่งเป็นการพิมพ์ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ต่อพ่วงกับเครื่องพิมพ์หรือพรินเตอร์ต่อพ่วงกับเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตขนาดเล็กและใหญ่ หรือเครื่องพิมพ์เลเซอร์ความเร็วปกติจนถึงความเร็วสูง ซึ่งระบบดังกล่าวกำลังได้รับความนิยมทั้งจากผู้ประกอบการโรงพิมพ์ รวมทั้งตรงตามความต้องการของลูกค้า และเป็นเทรนด์หนึ่งที่ผู้ประกอบการโรงพิมพ์ไม่ควรมองข้ามจุดนี้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *