xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลสำรวจ SMEs โลกเห็นโอกาสโต เล็งตั้งเป้าเพิ่มรายได้ 50% ใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรสเผยธุรกิจเอสเอ็มอีหรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่วนใหญ่เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตในระดับนานาชาติ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มรายได้ 50% ภายใน 5 ปี

อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต หรืออีไอยู เผยผลสำรวจความคิดเห็นกับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเอสเอ็มอีจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางธุรกิจจำนวน 480 ตัวอย่างทั่วทุกมุมโลก พบว่า ธุรกิจขนาดย่อมทั้งหลายยังคงประสบกับอุปสรรคในระดับสากลอยู่ โดยการค้าขายระหว่างประเทศในแง่ของความสำเร็จในระยะยาวยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคด้านสถานการณ์ทางการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ วัฒนธรรมอันแตกต่าง และโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่มีไม่เท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ทำให้เกิดความล่าช้าต่อการเติบโตในตลาดต่างประเทศ โดยผลการสำรวจนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาและที่เจริญก้าวหน้าแล้ว โดยมีตัวเลขของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศกลุ่ม G7 (ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดา) ถึงร้อยละ 69 ที่กำลังทำธุรกิจระหว่างประเทศ และมีเพียงร้อยละ 46 จากผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา BRICM (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และเม็กซิโก) ที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามการค้าระหว่างประเทศนับเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี คุณภาพของปัจจัยต่างๆ ในตลาดกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะในส่วนของโครงสร้างภายใน เสถียรภาพทางการเมือง ต้นทุนการจัดการในการทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ รวมถึงความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริหารทุกคนได้ชี้แจงออกมาในผลสำรวจความคิดเห็น ที่ล้วนแล้วมีส่วนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินธุรกิจในตลาดการค้าใหม่ ๆ ความไม่เคยชินต่อตลาดต่างประเทศเป็นปัจจัยที่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 84 โดยยังตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ความเข้าใจต่อภาษาและวัฒนธรรมของตลาดเป้าหมายนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญถึงสำคัญอย่างยิ่ง

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มักเห็นคนทำธุรกิจเอสเอ็มอีมักลงทุนในตลาดที่มีสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกับประเทศของตน ผลการสำรวจนี้ยังแสดงให้เห็นถึงนักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่ม BRICM มักมองหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศที่กำลังพัฒนาประเทศอื่น ในขณะที่นักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่ม G7 ก็มักมองหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศที่มีความก้าวหน้าแล้ว ดังตัวเลขที่แสดงไว้ว่า มีนักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่ม BRICM ร้อยละ 15 หาโอกาสทางธุรกิจในประเทศรัสเซีย จีน อินเดีย และประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ในขณะที่มีนักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่ม G7 เพียงร้อยละ 3.6 กำลังหาช่องทางธุรกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าว

ด้านนายเคน อัลเลน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า นักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่ม BRICM มักประสบความสำเร็จทางธุรกิจในประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะสามารถเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ของตลาดได้ดี และสามารถเสนอราคาที่ดีกว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงน้อยกว่า หากคุณกำลังคิดจะลงทุนในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา นักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศที่พัฒนาแล้วจึงควรศึกษาถึงวิธีการเข้าสู่ตลาดที่กำลังเกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ ในขณะที่การคำนวณหามาตรการใหม่ก็จะช่วยให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ในตลาดการค้าระหว่างประเทศ จากประสบการณ์โดยตรงของดีเอชแอล เราตระหนักดีว่าบริษัทคู่ค้า และผู้ให้บริการทั้งหลาย โดยเฉพาะในแวดวงของลอจิสติกส์และการขนส่ง สามารถยืนหยัดและต้านรับต่ออุปสรรคทางด้านวัฒนธรรมและโครงสร้างขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างดี โดยสามารถตั้งราคาที่ได้เปรียบในการแข่งขันได้

ขณะที่ในส่วนของการขยายโอกาสการเติบโต การหาพันธมิตรร่วมก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในธุรกิจเอสเอ็มอี โดยผลการศึกษาพบว่า นักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่ม G7 มักคุ้นเคยที่จะคบค้ากับผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าต่อ และบริษัทที่มีเครือข่ายการติดต่ออยู่ก่อนแล้ว เพื่อเป็นการประหยัดงบในการลงทุนไปได้ในตลาดใหม่ทั้งหลาย ผลการศึกษายังระบุว่ามาตรการใหม่ที่ใช้ได้ผลในตลาดเหล่านี้ เช่นการทำธุรกิจโดยการประหยัดช่องสื่อสารแบบ piggybacking หรือการทำการค้ากับบริษัทที่มีช่องทางการติดต่อค้าปลีกอยู่ก่อนแล้ว เพื่อเข้าถึงตลาด sub-Saharan ในแอฟริกา เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น