เอสเอ็มอีแบงก์จับมือบริษัทของ "หม่อมเต่า" ในฐานะภาคเอกชน ประเดิมร่วมลงทุนรายแรกกับธุรกิจเครื่องสำอางสมุนไพร ภายใต้โครงการร่วมลงทุน SMEs-OTOP วอนธุรกิจใหญ่เข้ามาร่วมลงทุนเป็นพี่เลี้ยงดูแลรายย่อย
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีแบงก์และบริษัท เอ็ม.ที.อาร์.แอสเส็ท เมเนเจอร์ จำกัด ซึ่งมี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นประธาน ได้ร่วมกันตกลงร่วมลงทุน (Venture Capital for SMEs-OTOP) กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อย่างบริษัท ดับเบิ้ล พลัส มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอางสมุนไพรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่เอสเอ็มอีแบงก์ได้เปิดตัวโครงการร่วมลงทุน SMEs-OTOP ไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งมีลูกค้าของธนาคาร 9 ราย แสดงความสนใจเข้าร่วมลงทุน และบริษัท ดับเบิ้ล พลัส ฯ เป็นหนึ่งในลูกค้าจำนวนดังกล่าวที่มีคุณสมบัติและความสนใจรายแรกในการเข้าร่วมโครงการร่วมลงทุนในครั้งนี้
สำหรับ บริษัท ดับเบิ้ล พลัส มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้ประกอบการผลิตสินค้าเครื่องสำอางสมุนไพรประเภทแชมพู สบู่ โลชั่นสปา ที่มีคุณภาพสูง เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยดำเนินกิจการมากว่า 16 ปี ปัจจุบันสินค้ามีจำหน่ายในห้างท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต และเดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นต้น ซึ่งบริษัทมีแผนการที่จะต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างแบรนด์ไทยส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศและต้องการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของตลาดให้ดียิ่งขึ้น
นางสาลินี กล่าวด้วยว่า ขั้นตอนต่อไปทางเอสเอ็มอีแบงก์ และบริษัท เอ็ม.ที.อาร์.แอสเส็ท แมนเนเจอร์ จำกัด จะร่วมกันให้ความช่วยเหลือ บริษัท ดับเบิ้ล พลัส มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเข้าสู่กระบวนการร่วมลงทุน และให้ความร่วมมือแนะนำผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาในการทำแผนธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตของกิจการต่อไป
ส่วนรายละเอียดในการร่วมทุนกันนั้น จะตกลงในรายละเอียดอีกครั้งว่า ทางเอสเอ็มอีแบงก์และบริษัท เอ็ม.ที.อาร์.แอสเส็ท เมเนเจอร์ฯ จะร่วมการลงทุนมูลค่าเท่าใดและการปันผลอย่างไร โดยเบื้องต้นทางเอสเอ็มอีแบงก์กำหนดลงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย และการลงทุนไม่เกิน 49% ของทุนจดทะเบียน
“เราอยากให้การลงทุนครั้งนี้ เป็นการประเดิมและกระตุ้นให้ภาคเอกชนรายใหญ่อื่นๆ เกิดความสนใจ และเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อจะสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ อย่างเอสเอ็มอีหรือโอทอป” นางสาลินี กล่าว
ด้าน นางสาวขนิษฐา คบคงสันติ ผู้อำนวยการ บริษัท ดับเบิ้ล พลัส มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าต้องการเงินทุนเสริมมากเท่าไร โดยต้องกลับไปทำแผนธุรกิจมาเสนอเสียก่อน สิ่งสำคัญที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ อยากจะให้บริษัทใหญ่เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงธุรกิจ ปรุงปรับองค์กรให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น รวมถึง อยากจะขยายช่องทางจำหน่าย และขยายตลาดไปสู่การส่งออก โดยปัจจุบันบริษัทมีผลประกอบการประมาณ 6 ล้านบาทต่อปี และเชื่อว่า จากการเข้าร่วมลงทุนดังกล่าว จะช่วยให้บริษัทมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนั้น นางสาลินี เปิดเผยถึง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการเอสเอ็มอี (Venture Capital) วงเงิน 1-2.5 หมื่นล้านบาทว่า ในทางปฏิบัติจะต้องแบ่งเป็นกองทุนย่อยๆ มูลค่ากองทุนละหลักร้อยล้านถึงพันล้านบาท แต่ละกองทุนจะเน้นในอุตสาหกรรมที่ต่างกันไปเป็นการเฉพาะเจาะจง
สำหรับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ภาครัฐจะมีสัดส่วนการร่วมลงทุนอยู่ที่ 10-50% โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากเอสเอ็มอีแบงก์ในฐานะภาครัฐที่จะใส่เงินประเดิม 500 ล้านบาท นอกจากนั้น จะหาจากภาคเอกชนที่มีความสนใจเข้ามาร่วมลงทุน โดยสาระสำคัญของการจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในลักษณะการร่วมลงทุนในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์สูง และเป็นเงินทุนที่ไม่มีดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดนโยบายและรายละเอียดของแต่ละกองทุนนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา กองทุนละจำนวน 7 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานที่มีใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยตรง เช่น กระทรวงการคลัง สภาอุตสาหกรรม เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *