xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อ ศก.ปี 58 ทิศทางดี ตัวเลขส่งออกขยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรุงเทพโพลล์ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 58 ขยายตัวเพิ่ม นักเศรษฐศาสตร์มั่นใจฟื้นตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา วอนรัฐฯ ช่วยส่งออกสร้างนวัตกรรม พร้อมขยายตลาดควบคู่ปรับปรุงเทคโนโลยีภาคผลิต

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 28 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “คาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจและการส่งออกปี 2558” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-10 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 75.0 คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2558 จะขยายตัวดีกว่าปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 มีเพียงร้อยละ 11.7 ที่คาดว่าจะแย่กว่าปีนี้ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่ร้อยละ 95.0 คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าปีนี้ และคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 มีเพียงร้อยละ 1.7 ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่กว่าปีนี้

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 คาดว่าโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.3 ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 46.7 คาดว่า ธปท.จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันไปสู่ระดับร้อยละ 2.50 ภายในสิ้นปี 2558 ขณะที่ร้อยละ 33.3 คาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน (ร้อยละ 2.00) ตลอดปี 2558 ด้านค่าเงินบาทร้อยละ 51.7 คาดว่าค่าเงินบาทในปีหน้าจะอ่อนค่าลง โดยจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยเฉลี่ย ขณะที่ร้อยละ 23.3 คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ในส่วนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ร้อยละ 50.0 เห็นว่า SET Index ปี 58 ยังเป็นขาขึ้นโดยกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีอยู่ในช่วง 1,452-1,683 จุด ขณะที่ร้อยละ 13.3 เห็นว่าจะเป็นขาลง

สำหรับภาคส่งออกในปีหน้านั้น นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 81.7 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวดีขึ้น และคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 มีเพียงร้อยละ 3.3 ที่คาดว่าการส่งออกจะแย่กว่าปีนี้ นอกจากนี้ ร้อยละ 35.0 เชื่อว่าการส่งออกที่ชะลอตัวในปัจจุบันเป็นผลมาจากตลาดโลกที่ชะลอตัว 46% มาจากสินค้าไทยแข่งขันไม่ได้ 37%
และมาจากปัจจัยอื่นๆ 17%

ขณะที่สิ่งร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านการส่งออก มีดังนี้ คือ
1. ให้ความช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนา เน้นสร้างนวัตกรรม สร้าง Brand
และพัฒนาตัวสินค้า
2. ขยายตลาดต่างประเทศให้กว้างขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลัก ส่งเสริมการค้าแบบ G2G และแบบ G2B รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มากขึ้น
3. ให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ส่วนปัจจัยที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าจะส่งผลกระทบและฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยปี 2558 ที่สำคัญ คือ
1. ร้อยละ 70.0 เศรษฐกิจโลกในภาพรวมที่ยังชะลอตัว
2. ร้อยละ 66.7 คือปัญหาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก
3. ร้อยละ 63.3 เป็นปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนของไทย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น