“กรุงเทพโพลล์” สำรวจนักเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ จากการส่งออกที่แย่ การลงทุนภาคเอกชนน้อย แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวใน 3-6 เดือนจากการใช้จ่าย จากการลงทุนภาครัฐ เอกชน และการท่องเที่ยว
กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 28 แห่ง จำนวน 64 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9 21 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 25.67 (เต็ม 100) เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 23.13 แต่การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมากสะท้อนให้เห็นถึงสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอ่อนแออยู่เป็นอย่างมากในทุกปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัจจัยด้านการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 12.70 และ 19.84 ตามลำดับ เช่นเดียวกัการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำที่ 23.81 และ 29.37 ตามลำดับ ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐซึ่งถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเดียวที่ทำงานได้ดีกว่าปัจจัยอื่นแต่ค่าดัชนีก็ยังคงอยู่ในระดับ 42.62 ซึ่งต่ำกว่า 50
ด้านความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 เดือนข้างหน้าค่าดัชนีอยู่ที่ 76.11 ลดลงจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ซึ่งค่าดัชนีเท่ากับ 80.75 แต่การที่ค่าดัชนียังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 ค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ค่าดัชนีอยู่ที่ 86.72 ลดลงจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ค่าดัชนีเท่ากับ 90.17 แต่การที่ค่าดัชนียังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 ค่อนข้างมาก ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าพบว่าทุกปัจจัยมีการปรับตัวที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบันโดยเฉพาะการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ การลงทุนภาคเอกชน ส่วนการบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออก จะขยายตัวค่อนข้างช้ากว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ
สำหรับความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของวัฏจักร พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 35.9 เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovery) รองลงมาร้อยละ 29.1 เห็นว่าอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และร้อยละ 14.1 เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำ (Trough) มีเพียงร้อยละ1.6 ที่เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงรุ่งเรือง (Peak) เมื่อแบ่งวัฏจักรออกเป็น 2 ฟาก คือ ฟากเศรษฐกิจขยายตัวจนถึงจุดสูงสุด(ร้อยละ 37.5) และ ฟากเศรษฐกิจถดถอยจนถึงจุดต่ำสุด (ร้อยละ 53.2) แล้วเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจะพบว่า เศรษฐกิจปัจจุบันยังคงอยู่ในภาวะถดถอยและเคลื่อนเข้าสู่จุดต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจซึ่งแตกต่างจากผลการประเมินครั้งก่อน ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตั;
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า (1) เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในสถานะที่อ่อนแอเป็นอย่างมาก (2) แนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า โดยปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวที่สำคัญคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออก จะขยายตัวค่อนข้างช้ากว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ (3) เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะถดถอยและเคลื่อนเข้าสู่จุดต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ